มอง Social Media กลยุทธ์การตลาดกับการเลือกตั้งปี 62

ประเทศไทยห่างหายจากการเลือกตั้งไปถึงเจ็ดปี เมื่อมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งขึ้นมาจึงทำให้หลายคนต่างจับตาดูว่าแต่ละพรรคการเมืองจะใช้กลยุทธ์ใดบ้างในการหาเสียง

หนึ่งในกลยุทธ์รูปแบบใหม่ที่หลายพรรคให้ความสนใจนั่นก็คือโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูป ฯลฯ ต้องยอมรับว่าในวันนี้จำนวนคนไทยที่ใช้โซเชียลมีเดียมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อเจ็ดปีก่อนมหาศาล ดังนั้น ในการหาเสียงหรือการพยายามที่จะโน้มน้าวให้คนชอบหรือไม่ชอบผ่านโซเชียลมีเดียในครั้งนี้น่าจะมีความสำคัญไม่น้อย

การนำโซเชียลมีเดียมาใช้

k1

ภาพจาก goo.gl/MqtUqX

ในต่างประเทศเองมีการนำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการเข้าถึงกลุ่มคนทั่วประเทศโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ การเลือกตั้งในบ้านเราครั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าจะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่จะมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกน่าจะประมาณเจ็ดล้านคน

หากรวมกลุ่มคนที่เล่นโซเชียลมีเดียจริง ๆ ยังมีอีกจำนวนมหาศาล แม้ว่าจริง ๆ แล้วทางผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียจากต่างประเทศได้กำหนดไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีใช้งานได้ แต่ในความจริงแล้วเด็ก ๆ หลาย ๆ คนก็มีการใช้โซเชียลมีเดียโดยอาจแจ้งอายุไม่ตรงกับความจริง

หลายพรรคการเมืองเองก็เริ่มหาที่ปรึกษาทางด้านโซเชียลมีเดีย พรรคการเมืองจะใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการหาเสียงลำดับแรก ๆ น่าจะเป็นการหาคนเข้ามาเป็นผู้สมัครของพรรค ต้องยอมรับว่าโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการที่ทำให้หลายคนได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง

รวมถึงมุมมองหรือองค์ความรู้ คนเก่งหลายคนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ชำนาญ เช่น ประมง เกษตร การจัดการทางด้านสังคม ฯลฯ จึงมีการใช้โซเชียลมีเดียดึงคนเหล่านี้เข้ามาร่วมพรรค ที่เห็นได้ชัดมากอย่างพรรคของคุณธนาธร เท่าที่เห็นมีหลายคนที่มีบทบาทหรือมีเรื่องราวของตัวเองอยู่บนโซเชียลมีเดียมากเลยทีเดียว

ในการกำหนดกฎกติกาเพื่อควบคุมกำกับดูแลการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียง กกต.จะสามารถเขียนกฎกติกาให้มีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นไปอย่างยุติธรรมได้หรือไม่นั้น ผมว่าทุกอย่างเป็นไปได้

เพียงแต่ว่าในแง่ของโซเชียลมีเดียที่มีทั้งการสื่อสารแบบตรง ๆ ก็ดี และการสื่อสารแบบอ้อม ๆ คือใช้บุคคลที่สามหรือใช้กลุ่มคณะอื่นมาพูดแทนแล้วมีผลกระทบ หรือบางทีการสื่อสารบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้คนในประเทศเท่านั้น

สามารถสร้างฐานเสียงหรือบางอย่างจากต่างประเทศแล้วกลับเข้ามาในประเทศไทยก็ได้ โดยที่ไม่ต้องใช้สำนักข่าว ฉะนั้นกฎระเบียบบางอย่างมันอาจจะครอบคลุมอยู่แต่เฉพาะในประเทศไทย แต่อาจไม่ครอบคลุมไปถึงต่างประเทศหรือบุคคลที่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นสื่อที่ครอบคลุมไปทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว

โอกาสทองของการเชื่อมต่อ คนรุ่นใหม่-รุ่นเก่า

k2

ภาพจาก www.facebook.com/DemocratPartyTH

หาก กกต.จะขอคำปรึกษาในเรื่องนี้ผมก็ยินดี อย่างเรื่องการจะควบคุมเฟคนิวส์เป็นเรื่องหนึ่งที่บรรดาผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียเองก็กำลังเตรียมการรับมือ ผมอยากจะเสนอว่าผู้ใหญ่บ้านเราหรือ กกต.ควรที่จะมีการพูดคุยในเรื่องนี้กับผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียซึ่งส่วนใหญ่จะมีตัวแทนอยู่ในประเทศไทยกันอย่างจริงจัง

เน้นย้ำเลยว่าใกล้การเลือกตั้งแล้วในแง่ของผู้ให้บริการต้องจริงจังกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ควรมีการตั้งวอร์รูมและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปจัดการ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีวิธีการสื่อสารกับภาคประชาชนด้วยเช่นกัน เพราะยิ่งใกล้ช่วงเลือกตั้งข่าวที่ไม่เป็นความจริงจะยิ่งเกิดขึ้นเยอะ

สำหรับประชาชนเองเมื่อมีอะไรที่ผิดปกติก็ต้องรู้วิธีการรายงานหรือแจ้งไปยังส่วนกลางให้มีการจัดการกับข่าวเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ฉะนั้นต้องทำควบคู่กันไปทุกฝ่าย จริง ๆ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่อาจได้เห็นการทำงานร่วมกันระหว่างคนรุ่นใหม่กับกลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่ และผมเชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่จะมีความสนใจและยินดีที่จะทำงานร่วมกัน ฉะนั้น หาก กกต.ติดต่อเข้ามาผมอาจจะเป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อให้การทำงานบริสุทธิ์และเป็นกลางมากที่สุด

การหาเสียงไม่จำกัดเวลาหรือมีอยู่แต่ในทีวีอีกแล้ว

k3

ภาพจาก www.facebook.com/DemocratPartyTH

บรรดาผู้สมัครต่าง ๆ หลายคนเริ่มทำงานกันแล้วโดยเริ่มออกพื้นที่ เริ่มถ่ายภาพ มอบสิ่งของต่าง ๆ เป็นการเริ่มต้นกันที่เร็ว ทุกคนเริ่มมีพื้นที่ของตัวเอง บางอย่างที่เห็นคือนักการเมืองไม่ได้โพสต์เอง เกิดจากคนในพื้นที่ได้แชร์ต่อหรือบอกต่ออีกที

ในก้าวต่อไปการทำงานการเมืองจะไม่ใช่เป็นการเมืองที่สื่อสารโดยตรง แต่จะกลายเป็นการเมืองที่สื่อสารโดยใช้ให้คนอื่นหรือ third party เป็นฐานเสียงพูดแทน เรื่องเหล่านี้เองที่จะนำความน่าปวดหัวมาให้กับ กกต. เพราะจะไม่มีการบอกว่าเป็นคนของพรรคไหน เป็นแค่การออกความเห็น ถ่ายวิดีโอคลิป

ซึ่งอาจเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรืออาจเป็นการต่อต้าน แม้จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการชี้แจงว่าการแชร์ข้อมูล การกดไลค์ต่าง ๆ นั้นเป็นการส่งเสริมให้มีการแชร์ข้อมูลออกไปจะมีส่วนผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ หลาย ๆ คนก็มีความกลัวในเรื่องเหล่านี้ อาจต้องมีการมาชี้แจงในเรื่อง พรบ.ตัวนี้อีกครั้งหนึ่งให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ในการหาเสียงครั้งนี้รูปแบบการมาดีเบตจะเปลี่ยนไป จะกลายเป็นดีเบตข้างเดียวเพราะนักการเมืองจะมีสื่อของตัวเอง ทุกคนจะใช้โซเชียลมีเดียแทบทั้งนั้น นักการเมืองจะเริ่มมองเห็นในเป้าหมาย ในการเลือกตั้งครั้งนี้การเข้าหากลุ่มเป้าหมายจะแม่นยำมากขึ้นเพราะสื่อบนออนไลน์ตอนนี้ถูก segment หรือรวบกลุ่มได้ชัดเจนขึ้น เช่น หากต้องการเข้าถึงกลุ่มนักธุรกิจ เกษตรกร ฯลฯ

ก็จะมีช่องทางเข้าถึงโดยตรง อย่างเฟซบุ๊กหรือไลน์ก็จะมีกลุ่ม มีเพจ จะเกิดเป็นซูเปอร์เซกเมนต์คือเกิดกลุ่มเฉพาะ สื่อต่าง ๆ จะถูกแตกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ฉะนั้น นักการเมืองอาจจะเหนื่อยมากขึ้น แต่หากนักการเมืองคนไหนที่มีการวางแผนกลยุทธ์ที่ดี มีทีมออนไลน์ที่เก่ง ผมบอกได้เลยว่าเขาจะเหนื่อยน้อยลงและได้ในสิ่งที่ต้องการ รวมถึงสามารถเข้าถึงประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าครั้งก่อน ๆ อย่างมหาศาล

โอกาสเกิดเหตุการณ์แบบอเมริกามีหรือไม่

ในไทยก็มีบริษัทที่มีการทำ analytics อยู่และบางบริษัทผมก็มีการลงทุนหรือเกี่ยวข้องอยู่บ้าง ผมอาจจะลงทุนในเชิงธุรกิจ ในด้านของข้อมูล big data ต่าง ๆ การพูดถึงข้อความของคุณในโลกออนไลน์ หรือแม้แต่การเช็คอินแต่ละครั้งมันสะท้อนพฤติกรรมหลาย ๆ อย่าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกธุรกิจคือการนำไปใช้ในแง่การวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อสินค้า การใช้บริการ ฯลฯ

แต่สิ่งนั้นก็สะท้อนในแง่การเมืองได้เหมือนกัน ในกลุ่มที่ผมไปลงทุนเราเองก็มีความเป็นกังวลเช่นกันจากเหตุการณ์ของ Cambridge Analytica ที่กลายเป็นเครื่องมือที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้บริษัทเหล่านี้จะกลายเป็นเป้าหมายของนักการเมืองที่อาจจะเข้ามาใช้ แต่ในขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้เองก็ต้องมีจริยธรรมและต้องมีวิธีการบริหารที่ดีไม่ให้ตกเป็นเป้าหมายเหมือนอย่างที่เกิดขึ้น

เรื่องที่กังวลกันอยู่นั้นจริง ๆ ทำได้ไม่ยากเพราะว่าข้อมูลทั้งหมดที่ออกมาในโลกออนไลน์สามารถบอกตัวตนได้ว่าคนคนนี้สนับสนุนพรรคใด สนับสนุนนักการเมืองคนไหน หรือมีพฤติกรรมบนโลกออนไลน์ที่สะท้อนหรือบ่งบอกได้ว่าคนคนนั้นสังกัดหรือชื่นชอบคนกลุ่มไหน

รวมถึงบอกได้เลยว่าคนคนนี้อยู่จังหวัดไหน เพราะว่าบางครั้งการสื่อสารในโซเชียลมีเดีย ในข้อความที่เราสื่อสารออกไปสังเกตดี ๆ บางครั้งมันจะมีตำแหน่งละติจูด ลองติจูดอยู่ การเช็คอินเป็นประจำก็บอกได้ว่าอยู่ที่ใด ข้อมูลเหล่านี้จะสะท้อนอะไรออกมาได้เยอะมาก

ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียเป็นสาธารณะ

k4

ภาพจาก www.facebook.com/pheuthaiparty

อาจมีคำถามว่ามีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ ข้อมูลเหล่านี้เมื่อมีการแชร์ไปบนโซเชียลมีเดียนั่นคือมีการอนุญาตให้เป็นสาธารณะแล้ว การแชร์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดียแบบไหนเป็นส่วนตัว แบบไหนเป็นสาธารณะนั้น วิธีการดูง่าย ๆ อย่างในเฟซบุ๊ก จะมีปุ่มให้เลือกความเป็นส่วนตัวว่าเป็นสาธารณะ (public) หรือจะโพสต์เฉพาะกลุ่มเพื่อน หรือเฉพาะเจาะจงคนที่เห็นได้เท่านั้น

ถ้าคุณปรับเป็นรูปโลกหรือเป็นสาธารณะบอกได้เลยว่าข้อมูลนี้เป็นสาธารณะ ทุกคนสามารถที่จะเข้าไปดูข้อมูลได้ แต่ต้องบอกว่าตอนนี้เฟซบุ๊กปิดไม่ให้หรือไม่มีระบบเข้าไปกวาดข้อมูลได้ยกเว้นคุณอนุญาตให้เข้าไปและการขออนุญาตก็ง่ายมาก

เช่น การไปเล่นเกมตอบคำถามง่าย ๆ ในออนไลน์เกมเหล่านี้ก่อนจะเข้าไปเล่นต้องใช้เฟซบุ๊กล็อคอินเข้าไป ซึ่งการล็อคอินเข้าไปแต่ละครั้งจะมีโทเค็นหรือเป็นกุญแจที่จะบอกว่าคุณยินยอมให้ไปอ่านข้อมูลได้

สังเกตว่ามันจะดึงรูปภาพของคุณได้ รู้วันเดือนปีเกิดหรืออื่น ๆ ออกมาได้หมด นั่นหมายถึงคุณกำลังให้สิทธิ์โปรแกรมเหล่านั้นเข้าไปอ่านข้อมูลของคุณได้ รวมถึงสามารถเข้าไปอ่านข้อมูลบนไทม์ไลน์บนเฟซบุ๊กของคุณได้ ซึ่ง Cambridge Analytica ก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน

ยังมีเครื่องมือตัวอื่นอีก เช่น โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นสาธารณะ หรือถ่ายรูปลงในอินสตาแกรมซึ่งบางคนอาจตั้งเป็นไพรเวทหรือบางคนอาจตั้งเป็นสาธารณะ บางคนอาจโพสต์ลงไปในพันทิปซึ่งเป็นสาธารณะแน่นอน ตอนนี้สื่อบนออนไลน์ที่คนไทยใช้ส่วนใหญ่ข้อมูลเป็นสาธารณะครับ

การซื้อข้อมูลผิดกฎหมายหากไม่ยินยอม

k5

ภาพจาก www.facebook.com/pheuthaiparty

ข้อมูลที่ได้จากบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลสาธารณะ ฉะนั้นเขาไม่สามารถจะไปเอาข้อมูลแต่ละคนได้ยกเว้นจะมีการยินยอม ข้อมูลสาธารณะเหล่านี้ได้จากการไปโพสต์ตามเพจต่าง ๆ เช่น เพจสินค้า อาหาร หรือแม้กระทั่งเพจการเมืองก็ตาม โพสต์ตามเพจเหล่านี้จะเป็นสาธารณะ การไปเอาข้อมูลเหล่านี้มาไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าเป็นการไปเจาะข้อมูล มีการเอาสิทธิ์เพื่อเข้ามาโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างนี้อาจจะมีการเข้าข่ายว่าผิดได้เหมือนกัน

ตอนนี้เริ่มมีนักการเมืองติดต่อเข้ามาในกลุ่มบริษัทที่ทำงานในลักษณะเหล่านี้บ้างแล้ว เท่าที่ผมมีโอกาสคุยด้วยเห็นได้ว่าทุกคนมีความกังวล เพราะทุกคนมีความเป็นกลาง บางนักการเมืองหรือพรรคการเมืองมีการติดต่อเข้ามาว่าอยากจะใช้บริการแต่ห้ามรับพรรคอื่น ซึ่งบริษัทต่าง ๆ ก็บอกว่าเขาคงทำในลักษณะนั้นไม่ได้เพราะเป็นผู้ให้บริการหากทำเช่นนี้อาจเกิดการไม่แฟร์ได้

จริง ๆ ที่ผ่านมาผมเคยทำลักษณะแบบนี้ในสมัยที่เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คือเอาตัว big data ของโซเชียลมีเดียมาวิเคราะห์ด้วยเหมือนกัน ตอนนั้นผมทำก่อนเลือกตั้ง วิเคราะห์ว่าคนไทยทั้งประเทศพูดถึงผู้สมัครคนไหนมากที่สุด ทำเป็นกราฟเป็นเทรนด์ออกมา และได้เห็นว่ามีผู้สมัครบางคนที่ถูกพูดถึงมาก และมีการเอา sentiment หรืออารมณ์เข้าไปจับว่ามีการพูดถึงในทางที่ดีหรือไม่ดี

ปรากฏว่ามันก็สะท้อนอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน ตอนนั้นคนที่ถูกพูดถึงมากและเป็นไปในทางบวกก็คือคุณสุหฤท สยามวาลา และคนที่ถูกพูดถึงในทางที่ไม่ดีก็เห็นเช่นกัน ข้อมูลเหล่านี้ผมนำไปทำงานร่วมกับค่ายทีวีต่าง ๆ โดยให้ฟรี เพราะว่าเราถือว่ามันเป็นเหมือนโพลล์ตัวหนึ่งที่สามารถชี้ชัดว่าใครจะเป็นคนชนะหรือแพ้ในแต่ละเขตได้เลย

ในเรื่องของจริยธรรมหรือหลักการทางธุรกิจนั้น เนื่องจากผู้ให้บริการในลักษณะนี้ในประเทศไทยมีไม่กี่เจ้าคงทำแบบเอ็กซ์คลูซีฟไม่ได้เพราะจะไม่เกิดความแฟร์ เครื่องมือเหล่านี้สามารถทำให้นักการเมืองรู้ตัวเองตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งและสามารถปรับเกมได้เป็นรายวันหรือรายชั่วโมงได้ นักการเมืองสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการชี้วัดได้เลย

นักการเมืองเริ่มโยนหินถามทาง

k6

ภาพจาก www.facebook.com/TSNParty

นักการเมืองบางคนเริ่มมีการใช้โซเชียลมีเดียหยั่งเชิงความรู้สึกประชาชนไปบ้างแล้วแต่เป็นในลักษณะส่วนตัวมากกว่า เมื่อเห็นฟีดแบ๊กจากประชาชนก็จะเริ่มรู้ หรือบางอย่างใช้เครื่องมือเหล่านี้เข้าไปวิเคราะห์คนที่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ เช่น นโยบายหรือปัญหา จะรู้ถึงฐานเสียงหรือคนที่สนับสนุนเรื่องเหล่านั้นมีมากน้อยแค่ไหน

เหมือนมีหมอดูหรือซินแสนั่งอยู่ในพรรค สามารถแยกได้เลยว่าฐานเสียงของพรรคกับคู่แข่งเป็นอย่างไร บอกได้เป็นรายวันหรือรายชั่วโมงได้เลย ดูความเคลื่อนไหวของฐานเสียงได้ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เหมือนเครื่องมือวิเศษที่มองเห็นคนทั้งประเทศว่าเป็นอย่างไร

การวิเคราะห์ข้อมูลนั้นฟังจาก Fact ที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียลมีเดียซึ่งสามารถสะท้อนอะไรบางอย่างได้ เช่น อาจจะพบว่ามีคนด่าพรรคของเรามาก แต่ปรากฏว่าเมื่อไปสะท้อนดูอีกทีว่าคนที่ด่านี่เป็นคนจริง ๆ หรือหรือหุ่นยนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมา

วันนี้จำนวนประชากรในประเทศไทยที่ใช้เฟซบุ๊กมีถึง 50 ล้านแอคเคานท์แล้ว แต่ที่ใช้จริงอาจจะน้อยกว่า หลายล้านแอคเคานท์อาจถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในเชิงการทำธุรกิจ เช่น รับจ้างกดไลค์ คอมเมนท์ ฯลฯ

ซึ่งแอคเคานท์เหล่านี้ไม่มีตัวตนจริง ๆ เมื่อมีการเลือกตั้งแอคเคานท์เหล่านี้อาจถูกปลุกขึ้นมาเพื่อโจมตีฝั่งตรงข้ามได้ด้วยเหมือนกัน วิธีแยกแยะแอคเคานท์เหล่านี้ดูได้ไม่ยากคือดูจากพฤติกรรม ที่จะพูดไม่ค่อยบ่อย เป็นแอคเคานท์ที่เพิ่งเปิดขึ้นมาในเวลาไม่นาน เพื่อนไม่ค่อยเยอะ เมื่อวิเคราะห์จะเห็นได้ว่าใครเป็นตัวจริงหรือตัวปลอมในโลกโซเชียลมีเดีย

สิ่งที่ผมอยากฝากไว้กับผู้สมัครที่จะลงเลือกตั้งว่าอาจจะต้องกลับไปดูข้อมูลที่เคยสร้างไว้ในอดีต เพราะอาจจะถูกขุดคุ้ยได้ไม่ยาก เช่น อาจจะเคยไปแชร์ข้อมูลอะไรไว้ เคยรู้จักใคร ไปงานสังสรรค์หรือเคยชนแก้วกับใคร ข้อมูลในอดีตอาจกลับมาทิ่มแทงคุณได้ในอนาคต พรรคการเมืองที่จะรับสมัครใครอาจต้องย้อนกลับมาดูเฟซบุ๊กโปรไฟล์ ดูอินสตาแกรมว่าเป็นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่ผมอยากจะเตือนบรรดานักการเมืองต่าง ๆ

อีกอย่างคือในเรื่องของ กกต. ควรรีบทำความร่วมมือหรือเชิญบรรดาผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียมาคุยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ หากลยุทธ์ในการจัดการเรื่องของข่าวปลอมอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และบอกตัวแทนโซเชียลมีเดียเหล่านั้นว่าต้องมีการโฟกัสอย่างจริงจัง เพิ่มทีมงานเพื่อสอดส่องมากขึ้น เพื่อทำให้การเมืองของประเทศไทยสมบูรณ์แบบมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้

งบประมาณในการใช้โซเชียลมีเดีย

k7

ภาพจาก www.facebook.com/TSNParty

การซื้อสื่อออนไลน์หรือในโซเชียลมีเดียถ้าซื้อตรง ๆ แล้วพรรคการเมืองเอามาชี้แจงได้นั้นจะวัดในเรื่องงบประมาณได้ แต่ ณ วันนี้มันไม่ใช่การที่จะซื้อกันตรง ๆ แล้ว จะเป็นการซื้อโดยใช้บุคคลที่สามซื้อแทนหรือบางครั้งอาจเป็นการซื้อจากความชื่นชอบส่วนตัว

ซึ่งตรงนี้จะตรวจสอบลำบากมาก เราจะรู้ได้ทางเดียวเลยก็คือบิลของนักการเมืองคนนั้น ๆ ที่นำไปจ่ายโซเชียลมีเดียโดยตรงซึ่งเขาสามารถนำมาชี้แจงได้นั่นเอง แต่ถ้าคนอื่นทำจะบอกไม่ได้เลย หรือหากทางผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียนำมาเปิดเผยก็จะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวเช่นกัน

ผมอยากเสนอให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าเป็นวาระที่ดีแล้วที่จะดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ เข้าไปอยู่ในพรรค เพราะเท่าที่เห็นตอนนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าไปอยู่ในโลกการเมืองน้อยมาก ควรเปิดโอกาสให้พวกเขาได้เข้าไปอยู่เพื่อจะได้มีคนรุ่นใหม่ ๆ เข้าไปทำงานการเมืองมากขึ้น

ในขณะเดียวกันอย่าเอาตัวเองไปครอบเขามากจนเกินไปนัก เปิดโอกาสให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้คิด ได้แสดงออก ได้ทำงาน ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองในยุคนี้ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง ควรมีคนรุ่นใหม่ ๆ ไปทำอะไรที่ดีขึ้น ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดียอาจเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ๆ เข้าไปอยู่ในพรรคการเมืองมากขึ้น ต้องให้เขาเข้าไปมีบทบาท เข้าไปเป็นสมาชิก เชื่อว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว

นโยบายเกี่ยวกับดิจิทัล

ปัญหานโยบายเกี่ยวกับดิจิทัลมีบางพรรคนำมาใช้แต่ยังไม่มากเท่าใดนัก แต่หากนำมาใช้ต้องดูให้ดีเพราะนโยบายเหล่านี้อาจจะส่งผลแบบได้ใจคนบางกลุ่มเท่านั้น

อาจต้องวางกลยุทธ์ให้ดีว่าจะทำแบบไหน โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยว่าควรจะมีเรื่องนี้ และอยากฝากเรื่องการค้าขายบนโลกออนไลน์ การใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศซึ่งเป็นกำลังสำคัญ หากพรรคไหนมีนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีและมีคนที่รู้เรื่องนี้จริง ๆ เชื่อได้เลยว่าจะมีคะแนนพิเศษโดยเฉพาะในกลุ่มคนเทคโนโลยีที่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทย

 

เขียนโดย : คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต