ประวัติของแมคโดนัลด์ ที่โลกต้องรู้!

“แมคโดนัลด์” อาจเป็นแบรนด์แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดหนึ่งเดียวที่คนรู้จักทั่วโลก จนถึงขั้นถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่อง “THE FOUNDER” อยากรวย ต้องเหนือเกม

เป็นการนำเสนอเรื่องราวของ “เรย์ คร็อก” เซลส์แมนคนหนึ่งผู้เห็นศักยภาพในการผลิตแฮมเบอร์เกอร์ของ 2 พี่น้อง “ดิ๊ก และ แมค แมคโดนัลด์” จึงใช้อุบายและเล่ห์กลหลอกซื้อกิจการ “แมคโดนัลด์” ต่อจาก 2 พี่น้อง เพื่อนำไปขยายกิจการในรูปแบบแฟรนไชส์ จนกระทั่งปัจจุบันขยายสาขาไปทั่วโลก

เรื่องราวและประวัติความเป็นมาของ “แมคโดนัลด์” หลายคนอาจรู้มาบ้าง แต่วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะมาอัพเดทเรื่องราวแบรนด์แฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในโลกให้ทราบอีกครั้งครับ

จุดเริ่มต้น “แมคโดนัลด์”

ประวัติของแมคโดนัลด์

ภาพจาก https://bit.ly/2W5mPcm

ตำนานความอร่อยจากร้านแมคโดนัลด์เริ่มขึ้นเมื่อปี 1940 โดยผู้บุกเบิก 2 พี่น้องแมคโดนัลด์ “ดิ๊ก” (Richard James “Dick” McDonald) และ “แมค” (Maurice James “Mac” McDonald) ได้ร่วมกันทำร้านอาหาร “บาบีคิวแมคโดนัลด์” มีเมนูอาหาร 25 เมนู แบบไดร์ฟทรู (ขับรถเข้าไปซื้อ โดยไม่ต้องลงจากรถ) ที่ซานเบอร์นาดิโนเมืองเล็กๆ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

หลังจากร้านเปิดให้บริการลูกค้าไปได้ระยะหนึ่ง ทั้ง 2 พี่น้องรู้สึกว่าระบบการบริหารจัดการภายในร้านแมคโดนัลด์เริ่มมีปัญหา แม้ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่กำไรยังน้อยเกินไป ทั้งเมนูอาหารที่มากเกินไป ขั้นตอนการสั่งอาหารที่ยุ่งยากเกินไป เสียเวลา แถมต้องเตรียมวัตถุดิบหลากหลายจำนวนมาก ที่สำคัญเมนูบาร์บีคิวหากทำไว้ล่วงหน้าก็ไม่อร่อย หากจะทำให้อร่อยต้องใช้พ่อครัวที่มีทักษะและความสามารถ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในจ้างพนักงานและพ่อครัวจำนวนมาก

หลังจากนั้นทั้ง 2 พี่น้องทำการเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการร้านใหม่ทั้งหมด โดยในปี 1948 หลังจากปิดปรับปรุงร้านเป็นเวลา 3 เดือน พวกเขาได้เปิดร้านให้บริการลูกค้าอีกครั้ง ลดเมนูอาหารลงจาก 25 เมนู แล้วชูแฮมเบอเกอร์ให้เป็นเมนูหลัก พร้อมเครื่องดื่มเคียงมันฝรั่งทอด มีพายของหวาน และเครื่องดื่ม “มิลค์เชค” เน้นในรูปแบบลูกค้าบริการตัวเอง

พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อเหลือแค่ McDonald’s ปรากฏว่านอกจากจะสามารถลดเวลาที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการในร้านแล้ว ยังเพิ่มปริมาณลูกค้าได้มากขึ้น อีกทั้งลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานเสิร์ฟ ไม่ต้องใช้พ่อครัวมืออาชีพที่มีค่าตัวแพง ทำให้ราคาแฮมเบอร์เกอร์ของร้านแมคโดนัลด์ถูกกว่าร้านอื่นๆ นับว่าเป็นการจุดเริ่มต้นของร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ดอย่างแท้จริง

46

ภาพจาก https://bit.ly/3y4KQh5

กระทั่งก้าวสู่ปี 1954 มีชายสูงอายุคนหนึ่งชื่อ “เรย์ คร็อก” (Raymond Albert ‘Ray’ Kroc) พนักงานขายเครื่องปั่นมิลค์เชค ได้รับยอดสั่งซื้อสินค้า 8 เครื่องจากร้านขายแฮมเบอร์เกอร์แห่งหนึ่ง แต่เขากลับไม่ดีใจที่ขายได้มากขนาดนี้ เขากลับสงสัยว่าทำไมร้านแห่งนี้ใช้เครื่องเยอะขนาดนี้ เพราะเขาเชื่อมั่นในคุณภาพของเครื่องปั่นบริษัท ว่าจะไม่พังได้ง่ายๆ แน่นอน

ในที่สุดเขาก็เดินทางไปดูร้านให้เห็นกับตาตัวเอง จากนั้นความเชื่อทั้งหมดของเขา ก็คือ ความเชื่อที่ว่าระบบ Fast Food คืออนาคตของร้านอาหารสมัยใหม่ในการขยายสาขาไปได้ทั่วประเทศ เขาจึงสนใจอยากร่วมธุรกิจกับแมคโดนัลด์

แต่ทั้ง 2 พี่น้องกลับไม่เชื่อคำพูดของ เรย์ คร็อก เพราะพวกเขาทั้งสองเองก็มีความเชี่ยวชาญและพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านแมคโดนัลด์ให้เข้ากับเมือง California โดยเฉพาะ เมื่อขยายไปเมืองอื่นๆ หากเจออากาศร้อน ฝนตก ก็จะต้องส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคอย่างแน่นอน ซึ่งระบบของแมคโดนัลด์อาจไม่ใช่คำตอบ

แต่เรย์ คร็อก ไม่ลดละความพยายาม พูดให้ทั้งสองพี่น้องคล้อยตามด้วยการปรับเปลี่ยนเมนูไปตามแต่ละพื้นที่ เพียงแต่ใช้เมนูแฮมเบอร์เกอร์เป็นเมนูหลักประจำร้าน เน้นราคาถูก บริการรวดเร็ว เพราะคนอเมริกันนิยมรับประทานแฮมเบอร์เกอร์ แต่ทั้งสองพี่น้องก็ยังยืนยันในมุมมองและความคิดของตัวเอง ว่าไม่คุ้มที่จะต้องทำแบบ เรย์ คร็อก

เรย์ คร็อก ถือเป็นคนฉลาดในแง่ของการทำธุรกิจ เขาจึงคิดระบบแฟรนไชส์แมคโดนัลด์ขึ้นมาใหม่ โดยเขาเป็นคนจัดการและรับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยระบบแฟรนไชส์จะทำให้คนซื้อแฟรนไชส์ต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์จำนวน 1.9% ของยอดขาย โดยทั้ง 2 พี่น้องจะได้ผลตอบแทน 1% โดยไม่ต้องทำอะไรเลย ทำให้ทั้ง 2 สองพี่น้องยอมรับข้อเสนอของเรย์ คร็อก

45

ภาจาก https://bit.ly/3k7EyrT

หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 1955 ร้านแมคโดนัลด์สาขาแรกเปิดให้บริการที่รัฐอิลลินอยส์ ห่างจากรัฐแคลิฟอร์เนียประมาณ 2,600 กิโลเมตร โดยร้านสาขาแรกใช้สีเหลือง ขาว และแดง เป็นสีหลักโลกโก้ของแมคโดนัลด์ ถือเป็นการพิสูจน์ให้กับ 2 พี่น้องเห็นว่าระบบแฟรนไชส์แบบนี้ขายได้ ไม่ว่าจะพื้นที่ไหน

แต่ทั้ง 2 พี่น้องไม่เชื่อใจ จึงแอบขายสิทธิ์ให้กับคนอื่น จุดตรงนี้จึงนำไปสู่ความขัดแย้งและแตกหักระหว่างเรย์ คร็อก กับ สองพี่น้อง ทำให้เรย์ คร็อก จำเป็นต้องไปซื้อสิทธิ์กลับมาในราคา 5 เท่าของราคาที่ขายไป เพราะเรย์ คร็อก ต้องการให้ร้านแมคโดนัลด์ทั้งหมดเป็นระบบมาตรฐานเดียวกัน

44

ภาพจาก https://bit.ly/2W2mmYZ

ต่อมา เรย์ คร็อก รู้สึกอึดอัดกับแนวคิดการขยายสาขาร้านแมคโดนัลด์ของ 2 พี่น้อง ที่ไม่ต้องการขยายสาขาเพิ่มมากนัก จนกระทั่งถึงปี 1961 เรย์ คร็อก ตัดสินใจซื้อสิทธิ์การบริหารแมคโดนัลด์จาก 2 พี่น้อง ราคา 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเขาได้ปิดข้อตกลงซื้อขายและไม่ยอมจ่ายค่าตอบแทน 1% ของยอดขาย

โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้ถูกเขียนไว้ในข้อตกลง ด้วยเหตุนี้ทำให้ 2 พี่น้องตระกูลแมคโดนัลด์ เหลือร้านแมคโดนัลด์ดั้งเดิมที่พวกเขาก่อตั้งมาเพียงแห่งเดียว แต่พวกเขาไม่สามารถรักษาสิทธิ์แฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ได้ จึงต้องเปลี่ยนชื่อร้านใหม่ว่าเป็น “The Big M” ต่อมาร้าน “The Big M” ของ 2 พี่น้องปิดตัวไปอย่างถาวรในปี 1964

หลังจากนั้นในปี 1986 แมคโดนัลด์มีจำนวนสาขามากกว่า 1,200 แห่ง มีพนักงานทั้งหมด 70,000 คน โดยร้านแมคโดนัลด์จำนวนกว่า 34% ดำเนินการโดยแฟรนไชส์ซี โดยร้านสาขาแรกในต่างประเทศอยู่ที่แคนาดา กระทั่งขยายสาขาไปทั่วโลก โดยร้านแมคโดนัลด์มีจำนวนเกือบ 40,000 สาขาใน 121 ประเทศทั่วโลก รวมประเทศไทย

แมคโดนัลด์ ขยายสาขาในประเทศไทย

43

ภาพจาก https://bit.ly/3gjjXzU

แมคโดนัลด์ถูกนำเข้ามาในเมืองไทยปี 2528 เป็นประเทศที่ 35 โดยนายเดช บุลสุข ซึ่งประทับใจในอาหารของแมคโดนัลด์สมัยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ที่สหรัฐอเมริกา โดยสาขาแรกอยู่ที่ห้างโซโก หรืออมรินทร์พลาซ่าในปัจจุบัน

รู้หรือไม่ว่า ร้านแมคโดนัลด์สาขาถนนราชดำเนิน ติดกับโรงเรียนสตรีวิทยา เป็นแมคโดนัลด์สาขาแรกในโลกที่ป้ายหน้าร้านใช้พื้นสีน้ำตาล แทนที่จะเป็นสีแดงเหมือนสาขาอื่นๆ เพราะเป็นการปรับให้เข้ากับภูมิสถาปัตยกรรมของอาคารริมถนนราชดำเนิน

เรย์ คร็อก ผู้สร้างระบบแฟรนไชส์

42

ภาพจาก https://bit.ly/381fpd0

อาจกล่าวได้ว่า เรย์ คร็อก เป็นผู้ปฏิวัติความคิดในการทำธุรกิจรูปแบบนแฟรนไชส์ เขาทำให้แมคโดนัลด์กลายเป็นต้นแบบของธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ทั้งระบบการบริหารจัดการ การผลิตสินค้า การขาย และการบริการลูกค้า จนธุรกิจอื่นๆ ได้ก็นำเอาแนวคิดระบบแฟรนไซส์ไปเป็นกลยุทธ์การขยายธุรกิจจนประสบความสำเร็จมากมาย

41

ภาพจาก https://bit.ly/3D3Y5lB

เรย์ คร็อก ได้ขยายสาขาแฟรนไชส์ร้านแมคโดนัลด์ออกไปเรื่อยๆ ในหลายๆ พื้นที่ของสหรัฐอเมริกา พบว่าภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี เขาสามารถขยายกิจการได้มากกว่า 100 สาขา และมีการขยายสาขาออกไปยังต่างประเทศ ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามแผ่นป้ายโฆษณา โดยใช้ทักษะการเป็นนักขายในการขยายสาขาแฟรนไชส์ออกไปทั่วอเมริกา

40

ภาพจาก https://bit.ly/3y5Oqrb

รู้หรือไม่ว่า กลยุทธ์การขยายแฟรนไชส์ของ เรย์ คร็อก ที่ถูกกล่าวขานและพูดถึงกันมาก โดยที่หลายๆ คนอาจไม่รู้มาก่อน นั่นคือ เขาได้จัดตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไว้สำหรับซื้อที่ดิน แล้วให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์แมคโดนัลด์เช่าที่ดินของเขาต่ออีกที

ถือเป็นการหารายได้เพิ่ม 3 ต่อ ทั้งจากการขายแฟรนไชส์, ขายเครื่องปั่นมิลค์ เชค และรายได้จากให้เช่าที่ดิน นั่นจึงเป็นที่มา….แมคโดนัลด์ไม่ได้มีรายได้จากการขายแฟรนไชส์ แต่มีรายได้จากอสังหาริมทรัพย์


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ข้อมูลจาก https://bit.ly/3AVCHNz , https://bit.ly/3kdeI5I

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3zg1DPv

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช