“นกแก้ว” สบู่แบรนด์ไทย รายได้กว่า 2,000 ล้านบาท

คนไทยสมัยก่อนนิยมใช้มะขาม , ขมิ้น หรือน้ำผึ้ง มาใช้ขัดตัวถูตัวตอนอาบน้ำ กระทั่งปี 2470 คนไทยเริ่มรู้จักการใช้สบู่เป็นครั้งแรกโดยชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาในประเทศไทยนำมาทำให้แพร่หลาย คำว่าสบู่มาจากรากศัพท์คือคำว่า Soap 

แต่ชาวญี่ปุ่นอ่านออกเสียงเร็วๆกลายเป็น “โซปปุ” และกลายมาเป็นคำว่าสบู่ที่คนไทยใช้เรียกจนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่าในทุกวันนี้ “สบู่” เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มูลค่าการตลาดสูงกว่า 7,000 ล้านบาท แต่ถ้าถามถึงสบู่ที่คนไทยนึกถึงมากที่สุด

www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าคำตอบส่วนใหญ่ต้องพูดถึง “สบู่นกแก้ว” สอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่าแบรนด์สบู่นกแก้วมีการรับรู้มากถึง 96% นั่นหมายความว่า เดินไปถามคนไทยตามท้องถนน 100 คน จะมีคนรู้จักสบู่นกแก้ว ถึง 96 คน

เส้นทางของ “นกแก้ว” สบู่แบรนด์ไทยโดยคนต่างชาติ ก่อตั้งมานานกว่า 75 ปี

17

ภาพจาก https://bit.ly/3PmnVYf

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2494 สมัยนั้นคนไทยมีทั้งอาบน้ำตามริมคลอง และอาบน้ำในห้องน้ำบ้านตัวเอง โดยที่สบู่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก ในขณะนั้นมีนักธุรกิจชาวเยอรมันชื่อ Walter Leo Mayer (วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์) และ Heinrich Zeker (ฮายน์ริช ซีเกอร์)ที่เดินทางมาดูงานในประเทศไทย หลังจากเจรจาธุรกิจกันทั้งคู่คิดตรงกันว่าเมืองไทย ยังไม่มี

แบรนด์สบู่หอมของไทย และสบู่ที่นำเข้ามา แม้จะมีคุณสมบัติครบจบในก้อนเดียว ใช้ได้ตั้งแต่อาบน้ำ สระผม ซักผ้า ล้างจานแต่ก็ไม่ได้ดีต่อผิว แถมฟอกแล้วไม่มีกลิ่นหอมติดตัวื ทั้งคู่เลยตัดสินใจเปิดบริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2490

โดยเริ่มเปิดโรงงานผลิตในซอยสุขุมวิท 42 ภายใต้ชื่อบริษัทรูเบียอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจ ยังไม่มีการนำเข้าเครื่องจักร อาศัยคนงานไม่ถึง 20 คน ผลิตสบู่แต่ละก้อนด้วยมือ และเมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้น บริษัทต้องการผลิตให้ได้มากขึ้นในภายหลังจึงได้เริ่มนำเข้าเครื่องจักรมาเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น

หลังจากคนไทยเริ่มรู้จักสบู่นกแก้วมากขึ้น จึงได้เริ่มทำการโฆษณาผ่านทางวิทยุและสื่อสิ่งพิมพ์ ด้วยจุดขายคือ “สบู่เนื้อแข็งใช้ได้นาน กลิ่นหอมติดตัว และราคาคนไทย” มาถึงในปี 2514 จึงได้เริ่มโฆษณาทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก และทำยอดขายสบู่นกแก้วได้ถึง 25 ล้านบาท กลยุทธ์การตลาดในช่วงแรกเน้นขายถูก ขายเพียงก้อนละ 2 บาทและ 4 บาท ทำให้เข้าถึงคนต่างจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการใช้พรีเซ็นเตอร์คือ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่ยิ่งทำให้กระแสของสบู่นกแก้วในยุคแรกดังมากขึ้นด้วย

ทำไมต้องใช้ชื่อว่า “สบู่นกแก้ว”

16

ภาพจาก https://bit.ly/3Md8Ia8

น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่าทำไมต้องใช้ชื่อว่า “นกแก้ว” แท้ที่จริงเหตุผลของการตั้งชื่อนี้ ไม่ใช่เพราะ เป็นชื่อที่เรียกง่าย จำง่าย ตามสไตล์การตั้งชื่อแบรนด์ในอดีต ที่นิยมนำชื่อสัตว์มาตั้งเป็นชื่อและใช้เป็นโลโกแบรนด์ แต่ชื่อ “นกแก้ว” มาจากงานอดิเรกของคุณไมเยอร์ ที่ชอบเดินป่า และประทับใจความสวยงามของนกแก้วไทย จนเป็นที่มาของการออกแบบกลิ่นของสบู่ให้หอมแบบกลิ่นของพฤกษาและดอกไม้ป่านานาพันธุ์

ซึ่งความหอมดังกล่าวของสบู่นกแก้วเกิดจากการใช้หัวน้ำหอมนำเข้าจากฝรั่งเศสผสมกับส่วนผสมจากธรรมชาติ บวกกับกรรมวิธีการผลิตอันเป็นความลับสุดยอด ทำให้เนื้อสบู่แข็งแน่น ใช้ไปแล้วไม่แตกหักง่าย และราคาที่เอื้อมถึง ทำให้สบู่นกแก้วแจ้งเกิดและเข้าไปนั่งในใจคนไทยได้อย่างรวดเร็ว

เส้นทางของ “นกแก้ว” ไม่ได้โรยกลีบกุหลาบ ผ่านมรสุมมานับไม่ถ้วน

15

ภาพจาก https://bit.ly/3Md8Ia8

แม้จะมองว่าเป็นแบรนด์ยอดฮิตที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีแต่ “สบู่นกแก้ว” ก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านอุปสรรคทางธุรกินมานับไม่ถ้วน หลังจากที่ตลาดสบู่มีการเติบโตขึ้น ทำให้มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นที่เป็นทั้งแบรนด์ไทยเองและแบรนด์จากต่างชาติ ในช่วงปี 2530 ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูมาก คนไทยส่วนใหญ่มีรายได้เกิดกระแสนิยม “ของนอก” ที่มีผลต่อรายได้ของสบู่นกแก้วชัดเจน

ในปี 2539 แม้สบู่นกแก้วจะสร้างยอดขายได้กว่า 100 ล้านบาทแต่ถ้าวัดในแง่ส่วนแบ่งการตลาดถือว่าโดนคู่แข่งแบรนด์ยักษ์ใหญ่หลายแห่งมาแชร์ในส่วนนี้ไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ “สบู่นกแก้ว” จึงเริ่มโฆษณาที่นำเสนอแนวคิด “ใช้ของไทย” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมันไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนยุคนั้นได้เลย

14

ภาพจาก https://bit.ly/3Md8Ia8

กระทั่งปี 2540 ที่เศรษฐกิจไทยเจอวิกฤติครั้งใหญ่ กระแสรณรงค์ใช้ของไทย กินของไทยเริ่มมาแรงมากขึ้น ทำให้สบู่นกแก้วพลิกกลับมาครองใจลูกค้าได้มากขึ้น และเพื่อให้การตลาดสามารถต่อยอดและเติบโตสบู่นกแก้วจึงได้เริ่มแตกไลน์สินค้าให้ครองใจลูกค้าได้มากขึ้นด้วย การแตกไลน์สินค้าใหม่ของนกแก้ว เช่น

  • Parrot Gold ที่ปรับลุกให้พรีเมียมขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มผู้หญิงที่ใส่ใจกับเรื่องความสวยความงาม
  • เปิดตัวสบู่ก้อนและครีมอาบน้ำในกลุ่มสุขภาพ ภายใต้ชื่อ Parrot Natural Guard
  • เปิดตัวด้วย Parrot Herbal เพื่อรองรับตลาดสบู่สมุนไพรที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
  • พัฒนาสบู่นกแก้วให้มีถึง 8 กลิ่น เช่น กลิ่นพฤกษานานาพรรณ (กลิ่นออริจินัล), กลิ่นมะลิ, กลิ่นกุหลาบ, กลิ่นบุปผชาติ, กลิ่นไม้หอม, กลิ่นลีลาวดี, กลิ่นกล้วยไม้ป่า และคลาสสิค คูล โดยแต่ละกลิ่นจะใช้สีกระดาษห่อที่แตกต่างกัน เป็นต้น

สบู่นกแก้วยอดขายมากกว่า 40 ล้านก้อนต่อปี รายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท

13

ภาพจาก https://bit.ly/3PmnVYf

โดยเฉพาะสบู่นกแก้วกลิ่นพฤกษานานาพรรณ ที่คนไทยรู้จักอย่างดีมียอดขายมากกว่า 40 ล้านก้อนต่อปี ในส่วนของสบู่กลิ่นอื่นๆ ก็มียอดขายที่ดีเช่นกัน และหากมองในเรื่องของรายได้จะพบว่าผลประกอบการของบริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัดในปี 2562 มียอดขาย 2,042 ล้านบาท กำไร 263 ล้านบาท

ส่วนในปี 2563 ยอดขาย 2,343 ล้านบาท กำไร 343 ล้านบาท สังเกตได้ว่ามียอดขายและกำไรที่เพิ่มมากขึ้น แต่รายได้ดังกล่าวไม่ได้มาจากสบู่นกแก้วอย่างเดียวเนื่องจากบริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทในเครือของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC จึงเป็นรายได้รวมที่เกิดจากสินค้าอีกหลายอย่าง แต่สบู่นกแก้วก็ถือเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทเช่นกัน

สูตรเด็ดเคล็ดลับที่ทำให้สบู่นกแก้วครองใจคนไทยมานานส่วนหนึ่งเพราะการยืนหยัดในอัตลักษณ์ของสินค้าที่คงคุณค่าแก่นแท้ของแบรนด์อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง La Mer, Sisley, SK-II ที่รักษาคุณค่าในผลิตภัณฑ์ระดับตำนานของตัวเอง และเชื่อว่าถ้าสบู่นกแก้ว ยังยืนหยัดด้วยวิสัยทัศน์ ที่ไม่ทิ้งจุดแข็ง พร้อมปรับตัวไปตามเทรนด์ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องจะกลายเป็นตำนานสินค้าที่พร้อมสร้างรายได้อย่างไร้ขีดจำกัดต่อไปในอนาคต


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3yu2Yoc , https://bit.ly/3wbZdRK , https://bit.ly/396zClk , https://bit.ly/3wjqlyd , https://bit.ly/3KWHwuV , https://bit.ly/3vY8U7n , https://bit.ly/39FFpyr

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3wwD0OC

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด