ธนาคาร grameen bank เพื่อศักดิ์ศรี ความเป็นคน

วันนี้ขอเปลี่ยนเป็นเล่าเรื่องไกลตัวแต่ใกล้ใจ ออกนอกลู่นอกทางเรื่องแฟรนไชส์กับค้าปลีกที่ว่ากันมาโดยตลอดหน่อยนะครับ

สาเหตุก็เพราะว่าเมื่อเร็วๆนี้มีการประกาศรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพที่เป็นรางวัลสุดยอดแก่ผู้ทำดีให้กับโลกใบนี้อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งปกติแล้วผู้ได้รับรางวัลมักจะเกี่ยวข้องกับแวดวงการเมือง การทหารหรือเป็นผู้ที่หยุดการประหารเข่นฆ่า แต่ผู้ที่ได้รางวัลคราวนี้กับไม่ใช่ผู้ที่หยุดสงครามห้ามโลกทะเลาะกันกับเขาที่ไหน แต่กลับเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ตัวเล็กๆคนหนึ่ง

ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ธนาคารเพื่อผู้ยากไร้แห่งแรกของโลก
ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ธนาคารเพื่อผู้ยากไร้แห่งแรกของโลก

ชาวบังคลาเทศที่เป็นประเทศอิสระไม่นานเท่าใดแต่เขาคนนี้มีความคิดที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่จดบันทึกกันไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ของสารระบบธุรกิจกันบ้างปกติแล้วเวลาเราพูดถึงบังคลาเทศ หลายคนก็คงนึกถึงเพื่อนเก่าที่เป็นแขกแบกโต๊ะขายถั่วที่มีให้เห็นกันไม่ยาก แขกอารมณ์ดีเหล่านี้มีชีวิตที่ประเทศของเขาเรียกได้ว่ายากเย็นแสนเข็ญ

เนื่องจากความแตกต่างของชนชั้น และเป็นประเทศที่ยากจนสุดๆ ความยากจนแบบแขกนั้นมันสาหัสครับใครที่เคยได้รับรู้จะบอกได้เลยครับว่า นรกบนโลกนั้นมีจริง คนจนในบังคลาเทศนั้นเป็นแบบเดียวกับคนจนในอินเดียที่โอกาสจะลืมตาอ้าปาก สลัดคราบกลายมาเป็นคนที่มีศักดิ์ศรี กับเขาบ้างนั้นลืมกันไปได้เลย เอาแค่ไม่ต้องร่ำรวยเพียงแค่กลายเป็นคนมีสิทธิ์แบบมนุษย์ทีอยู่ระดับชั้นกลางทั่วๆไปก็ไม่มี

เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของแนวคิดของคนตัวเล็กที่ใจใหญ่คิดอย่างเป็นระบบ เป็นเรื่องของคนจนสุดๆกับสถาบันการเงินที่เป็นเสมือนหอคอยที่อยู่ไกลสุดเอื้อมของคนกลุ่มนี้มาพบกัน และธนาคารนี้ผมขอเรียกว่า ธนาคาร เพื่อศักดิ์ศรี แห่งความเป็นคน

เรื่องของธนาคารตัวอย่างที่ได้รับการยกย่องทั่วโลกนี้เริ่มต้นมามากว่า 30 ปีแล้วโดยศาสตราจารย์ ยูนัส ที่เป็นอาจารย์สอนวิชาด้านเศรษฐศาสตร์ที่เขาเห็นว่าทฤษฏีด้านวิชาการที่มีเหล่านั้นเอาเข้าจริงๆกลับไม่ได้ช่วยแก้ความยากจนที่เกิดขึ้นในสังคมบังคลาเทศที่เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นทุกวันได้จริง

ความจนที่มีในสังคมหรือคนจนที่เกิดขึ้นในระบบนั้นยูนัสบอกว่า ไม่ใช่เกิดจากชาติกำเนิด มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมไม่มีใครเกิดมาจน แต่ระบบที่ซับซ้อนสถาบันมากมายที่มีต่างหากที่กำหนดให้คนเป็นคนจน ด้วยแนวคิดแผลงๆแต่ลึกซึ้งนี้แหละที่ทำให้เกิดการก่อตั้งธนาคารที่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ธนาคารแกรมมิน หรือที่แปลว่า หมู่บ้าน เป็นธนาคารที่เน้นย้ำการให้ผู้กู้ที่เป็นคนจนไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน และก็ไม่ใช่มีดอกเบี้ยที่ใช้กันทบต้นทบดอก ทำให้เงินกู้เล็กน้อยกลายเป็นหนี้มหาศาลแบบบ้านเมืองสารขันก็คงไม่ใช่ธนาคารแกรมมินเป็นธนาคารที่ต้องการดึงความภาคภูมิใจของคนที่หมดหนทางกลับมาตั้งตัวและใช้หนี้ได้

แนวคิดการให้กู้จึงไม่ใช่กู้แค่เงินแต่กลายเป็นการกู้เพื่อให้โอกาสแก่คนที่หมดโอกาสกู้เพื่อคืนศักดิ์ศรีที่จะกลับมาเป็นคนที่มีความสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้

ในสังคมโลกใบนี้เป็นเรื่องน่าแปลกที่คนยอมรับเสมอว่าธนาคารนั้นไม่มีทางให้เงินกับผู้ต้องการใช้เงินจริงแต่จะให้กับผู้ที่มีโอกาสสร้างกำไรให้เขามากกว่าซึ่งคนเหล่านั้นจริงๆแล้วไม่ต้องการใช้เงินเพื่อชีวิตของเขาเหล่านั้นเองเลย แต่สำหรับธนาคารแกรมมินนั้นจะให้ผู้กู้ได้รับวงเงินไม่สูงและผู้กู้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเสียด้วย

ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส ธุรกิจเพื่อสังคม
ศาสตราจารย์ มูฮัมหมัด ยูนุส ธุรกิจเพื่อสังคม

เนื่องจากโดยทางสังคมแล้วผู้หญิงในบังคลาเทศเป็นกลุ่มคนที่ได้รับโอกาสน้อยที่สุด แต่เรื่องกลับเป็นว่าผู้หญิงมีความรับผิดชอบดีที่สุด อัตราหนี้สูญของธนาคารแกรมมิน จึงมีน้อยกว่าน้อยเรียกว่าไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ ทั้งๆที่ผู้กู้นั้นไม่ต้องใช้อะไรเป็นเครื่องค้ำประกันเงินกู้เลย

การรับเงินกู้ใช้เพียงพลังกลุ่มเพื่อนผู้กู้ประมาณห้าคนเป็นผู้คอยให้กำลังใจและผลักดันให้แก้ปัญหาจนกระทั่งกลับมาใช้หนี้ได้จนหมด และก็หมายถึง ศักดิ์ศรีใน ความเป็นคน ของผู้กู้ได้กลับคืนมาจากการมีชีวิตที่ดีขึ้น สามารถปลดหนี้ที่ไม่เข้าท่าที่ปกติให้กู้ด้วยมูลค่าน้อยนิดแต่การสร้างระบบจนทำให้ผู้กู้กลายเป็นทาสเรือนเบี้ยจากภาระดอกเบี้ยบานทะโร่ให้หมดไป

ยังมีแนวคิดของอาจารย์ยูนัสอีกหลายอย่างที่เขาเห็นว่า การเปลี่ยนความจนนั้นต้องไม่ใช่เพียงแค่สังคมหาทางบริจาคให้เงินสิ่งของแต่ควรเป็นเรื่องของการให้โอกาสมากกว่า เมื่อคนจนมีโอกาสความรู้สึกทดท้อก็จะหายไปและจะสร้างพลังให้กับเขาสู้ต่อไปได้อย่างดี และนี่คือการแก้ปัญหายากจนระยะยาวที่แท้จริง

การกู้เงินที่ธนาคารแบบนี้มุ่งเน้นให้เงินกู้เป็นอาวุธไม่ใช่เป็นภาระหรือสร้างนิสัยไม่ดีในการบริหารการเงิน เนื่องจากการกู้เงินเน้นให้นำมาสร้างประโยชน์ไม่ได้นำมาใช้จ่ายเพื่อความสุขส่วนตัว การนำเงินมาสร้างโอกาสสร้างงานผลที่ได้คือ กำไรที่จะกลับมาจุนเจือใช้ประโยชน์ในชีวิตแทน

อาจารย์ยูนัสนั้นสร้างแนวคิดของธนาคารจากการศึกษากลุ่มคนจนรอบมหาวิทยาลัยที่อาจารย์ทำงานประจำอยู่ อาจารย์พบว่ากลุ่มคนที่เป็นโรคจนเหล่านี้ต่างก็มีหนี้ทุกคนแต่เป็นเพราะเนื่องจากการด้อยโอกาสทางสังคมจึงทำให้หนี้เล็กๆเหล่านั้นเป็นปัญหาใหญ่ และผู้ให้กู้นั้นไม่ได้ต้องการให้ผู้กู้หมดหนี้แต่สร้างระบบการกู้ให้กลายเป็นบ่วงที่ต้องทำใช้อย่างไม่สิ้นสุด

เมื่ออาจารย์ยูนัสตั้งมั่นที่ต้องการให้การปลดหนี้จากเงินเล็กน้อยเหล่านั้นหมดไปด้วยการสร้างธนาคารที่ให้กู้ไม่มากและที่มีระบบการใช้คืนทุกอาทิตย์ ทีละน้อยด้วยดอกเบี้ยต่ำผ่อนนาน การสร้างธนาคารแบบนี้ก็เหมือนฝันของคนจน ในทุกๆปีอาจารย์บอกว่าเขาสามารถลดคนจนที่มีในสังคมบังคลาเทศไม่น้อยกว่าปีละ 5% แม้จะดูไม่มากนักแต่ก็เป็นตัวเลขที่มีศักยภาพจริงๆ

ถึงวันนี้ธนาคารคนจนแบบแกรมมินนั้นช่วยคนจนในบังคลาเทศให้สร้างอาชีพขึ้นมามากมาย มีคนมากว่า 60% ใช้บริการมูลค่าการกู้เป็นเงินนับแสนล้าน นี่คือผลงานการสร้างให้ผู้คนสามารถกลับมายืนด้วยขาของตัวเองไม่เหมือนตัวเลขสวยหรูของการเติบโตทางธุรกิจที่ประกาศให้รับรู้แต่ไม่มีผลทางสังคมจริงๆ

ปัจจุบันนี้อาจารย์ ยูนัส ก็คงมีอายุไม่น้อยกว่า 60 ปีเข้าไปแล้ว กับผลงานและรางวัลโนเบลพร้อมกับเงินรางวัลประมาณ 50 ล้านบาทก็คงไม่ได้มีผลอะไรกับคนอย่างอาจารย์ยูนัสแล้วละครับ แต่สิ่งที่เขาได้รับระหว่างที่สร้างความดีต่างหากที่มีคุณค่าในฐานะที่ช่วยคนให้กลับมาเป็นคนอย่างมีศักดิ์และศรี เหมือนกับคืนชีวิตให้กับคนหมดหนทาง

คนแบบนี้นั้นผมละอยากให้มีชีวิตสักสองร้อยปีเพื่อจะได้เป็นกำลังใจให้กับคนที่จะสร้างความดีต่อไปซึ่งเวลาแค่นั้นก็ยังดูสั้นไป ซึ่งในทางกลับกันเวลาสำหรับบางคนนั้นมีชีวิตแค่เพียงสองร้อยชั่วโมงเราเองก็รู้สึกว่ามันช่างนานเกินไปเสียแล้ว….น่าตาย.. น่าตาย

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก www.grameenfoundation.orgwww.thetimes.co.uk

บทความโดย ดร.พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ บริษัท บิสิเนส โค้ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด

Email : peerapong@consultant.com