ธนาคารในแฟรนไชส์ ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น Win-Win Situation

เรียกได้ว่า พออ่านข่าวมาเจอ ต้องร้องเฮ้ย! มันมีแบบนี้ด้วยเหรอ มันมาถึงขึ้นขั้นเปิดให้บริการในร้าน 7-Eleven แล้วเหรอเนี่ย! เชื่อว่าหลายคนที่รู้ข่าว ก็ต้องอุทานเป็นเสียงเดียวกันนั่นแหละ สำหรับกรณีแบงก์ซีไอเอ็มบีไทยเปิดให้บริการในร้าน 7-Eleven สาขาย่อยสีตบุตร บริเวณถนนจรัสเมือง ตรงข้ามโรงเรียนสีตบุตรบำรุง ย่านหัวลำโพง

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ขอนำเสนอบทวิเคราะห์สถานการณ์ และแนวโน้มธุรกิจสถาบันการเงิน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ของไทย ที่กำลังดิ้นรน หาช่องทาง หากลยุทธ์ต่างๆ เข้าเสริมแกร่งในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอด รวมถึงสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งเพื่อดึงดูดลูกค้าให้ใช้บริการ มาดูกันเลยครับ

นวัตกรรมที่ต้องจับตามอง…แบงก์พาณิชย์ไทย

ธนาคารในแฟรนไชส์

ก้าวไปอีกขั้น ของนวัตกรรมการให้บริการทางการเงิน เพื่อความสะดวกสบายของลูกค้า สำหรับธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ที่เช่าพื้นที่ในร้าน 7-Eleven ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง เพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้ารายย่อย โดยเปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.30 – 19.30 น เหมือนกับสาขาในห้างสรรพสินค้าทั่วไป แต่ได้จะได้เปรียบตรงที่อยู่ให้ชุมชน ลูกค้าเข้าถึงได้ง่าย สะดวก

ต้องถือว่า ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารแห่งแรกในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทย กับการเข้าไปเปิดสาขาในร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่ปัจจุบัน ณ สิ้นปี 2558 ร้าน 7-Eleven ทั่วประเทศมีสาขารวมกว่า 8,832 สาขา ในแต่ละวันมีลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ย 10.9 ล้านคนต่อวัน มียอดขายและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยในประเทศไทยนั้น ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ในประเทศไทย มีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น และภายในปี 2561 ทางบริษัทฯ จะทำการขยายสาขา 7-Eleven ให้ได้จำนวนทั้งสิ้น 10,000 สาขาทั่วประเทศ

นั่นเป็นข้อดีและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการร่วมเป็นพันธมิตรกับ 7-Eleven เพราะถ้าสาขาแรกประสบความสำเร็จเกินคาด เป็นที่นิยมชมชอบของลูกค้า ก็จะต้องมีสาขา 2 สาขา 3 ตามมาแน่นอน

เพราะเมื่อไหร่ที่ธนาคารทำให้ลูกค้าเข้าถึงการให้บริการได้สะดวก อยู่ใกล้บ้าน เดินทางมาแค่ปากซอยก็ใช้บริการได้ ก็จะดึงดูดลูกค้าใช้บริการได้ ที่สำคัญนอกจากใช้บริการแบงก์เสร็จแล้ว ก็ยังสามารถซื้อของใน 7-Eleven กลับบ้านได้ด้วย

s2

ย้อนกลับไปร้าน 7-Eleven ก็เคยใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันนี้ในการดำเนินธุรกิจขยายสาขา เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม ด้วยการสร้างพันธมิตรทางการค้ากับปตท. ไปตั้งร้าน 7-Eleven ในทุกสถานีบริการน้ำมันของปตท.และ 7-Eleven ก็เข้าใจดีว่า กลุ่มลูกค้าทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ต้องเข้าไปใช้บริการในปั้มน้ำมัน ก็เลยไปอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าแบบถึงที่ เดินทางไปไหนเมื่อแวะปั้มน้ำมันปตท.ก็เจอแต่ 7-Eleven นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

สำหรับรูปแบบของสาขาธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ในร้าน 7-Eleven จะเป็นตู้กระจกเล็กๆ คล้ายกับเคาน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยมีพนักงานนั่งอยู่ด้านในตู้กระจก โดยให้บริการเปิดบัญชี บริการฝากเงิน บริการโอนเงินด่วนระหว่างประเทศ บริการแลกเงินตราต่างประเทศ บริการสินเชื่อรายย่อย บริการบัตรเดบิต และบัตรเครดิต

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การให้บริการลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ไทย คือ จะทำอย่างไรให้ลูกค้าสะดวก เร็ว และง่าย ในการทำธุรกรรมการเงิน ก่อนหน้านี้ธนาคารหลายๆ แห่ง ได้ปรับกลยุทธ์ช่องทาง และเครือข่ายให้บริการ โดยเริ่มก้าวไปสู่ดิจิตอลแบงก์กิ้ง ทำธุรกรรมบนมือถือได้ โดยเฉพาะเรื่องของการโอนเงิน ชำระค่าสินค้า บัตรเครดิต เป็นต้น

แต่ถึงอย่างไร ก็ยังมีธุรกรรมบางอย่าง ที่ยังไม่สามารถทำบนมือถือได้ รวมถึง กฎกติกาบางอย่าง ตลอดจนความเคยชินของลูกค้า ที่ต้องใช้บริการที่สาขาของธนาคาร ทำให้ระบบธนาคารหลายแห่ง ไม่สามารถก้าวสู่ดิจิตอลแบงก์กิ้งได้ 100%

s3

จึงไม่แปลกที่ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ได้สรรหาช่องทางใหม่ๆ ช่องทางที่สะดวกไว้คอยบริการลูกค้า ควบคู่ไปกับช่องทางดิจิตอล นับว่าเป็นนวัตกรรมการให้บริการทางการเงินที่สร้างสรรค์วิธีการใหม่

เพราะในวันนี้ ธนาคารไม่ได้เป็น ‘One bank for all’ ดังเช่นสมัยก่อน ที่ลูกค้าทุกกลุ่มทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ต่างเดินเข้าสาขาเดียวกัน ใช้บริการเคาน์เตอร์เดียวกัน

วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว แบงก์ให้บริการตามเซ็กเมนท์ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้ตรงความต้องการที่หลากหลาย และแบงก์ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการหาพื้นที่ของตัวเองอีกต่อไป

ทั้งนี้ การเปิดสาขาขนาดเล็กนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทย ก็เคยเปิดสำนักงานย่อย บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 11 สถานี เพื่อให้บริการลูกค้าในช่วงหลังเวลาเลิกงาน

ให้บริการได้เหมือนสาขาปกติ อาทิ เปิดบัญชีออมทรัพย์ ทำบัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต ฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน จ่ายบิล โดยจำกัดธุรกรรมเงินสด ไม่เกิน 200,000 บาทต่อครั้ง

แบงก์ดิ้นรน…เพื่อความอยู่รอด

s5

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ปิดสาขาไปแล้ว 32 สาขา จากเดิม 123 สาขา เมื่อเดือนมกราคม 2559 เหลือ 91 สาขา เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559

สอดคล้องกับ ธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ทยอยปิดสาขาที่ไม่ทำรายได้ สาขาที่มีทำเลซ้ำซ้อนกัน และสาขาที่หมดสัญญาเช่าพื้นที่ เช่น ห้างค้าปลีก คอมมูนิตี้มอลล์ ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และธนาคารซีไอเอ็มบีไทยไปเช่าพื้นที่สาขาภายในร้านสะดวกซื้อ โดยลดรูปแบบจากสาขาในห้างสรรพสินค้า ที่ใช้พื้นที่จำนวนมากและค่าเช่ารายเดือนในราคาที่สูง

เห็นได้ว่าปัจจุบัน การแข่งขันของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยมีการแข่งขันกันสูง ใครที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า ย่อมได้เปรียบอย่างแน่นอน

เช่นเดียวกับแบงก์ซีไอเอ็มบีไทย ที่ใครหลายคนไม่คิดว่าจะมีแบงก์ไหนเข้ามาเปิดให้บริการใน 7-Eleven แต่ก็มีจนได้ นับว่าเป็นการปรับตัวธนาคารพาณิชย์ไทย ที่พยายามหาทางออกเพื่อความอยู่รอด และเตรียมความพร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในยุคดิจิตอล

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/31K1ViV

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด