ทำธุรกิจแฟรนไชส์ ควรจดทะเบียนนิติบุคคล หรือ บุคคลธรรมดา

ปัจจุบันการ ทำธุรกิจแฟรนไชส์ มีการจดทะเบียนหลากหลายประเภท แต่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ก็คือ นิติบุคคล (บริษัท) และ บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์อาจไม่รู้ว่าตัวเองจะจดทะเบียนแบบไหนดี

และมีความแตกต่างจากการทำธุรกิจทั่วๆ ไปหรือไม่ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะนำเสนอให้ทราบครับ

จดทะเบียนนิติบุคคล

ทำธุรกิจแฟรนไชส์

เป็นการจดทะเบียนที่มีผู้ลงทุนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยการจดทะเบียนบริษัทจะทำให้มี “บริษัท” มีสถานะเป็น “นิติบุคคล” ที่มีตัวตนตามกฎหมาย แยกต่างหากจากเจ้าของธุรกิจ เจ้าของบริษัทจึงเป็นอิสระจากการไล่เบี้ยหนี้สินของบริษัท แต่บริษัทจะมีภาระหน้าที่แยกต่างหากจากเจ้าของ โดยบริษัทต้องจัดทำบัญชี, เสียภาษี, ยื่นประกันสังคมให้พนักงาน เป็นต้น

ข้อดี

5

  1. มีความน่าเชื่อถือ ทั้งจากนักลงทุน ผู้บริโภค ซัพพลายเออร์ กล้าซื้อสินค้า กล้าลงทุนแฟรนไชส์ สถาบันเงินมีความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจ ซึ่งโอกาสในการได้สินเชื่อที่มากขึ้น ก็หมายถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจที่มากขึ้นด้วย
  2. ขอสินเชื่อได้ง่าย เมื่อไปขึ้นทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะได้รับความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ ก็จะมีสิทธิ์ดีๆ ต่างๆเข้ามามากกว่าบุคคลธรรมดา เช่น ด้านสินเชื่อ, การร่วมลงทุน, การค้ำประกันสินเชื่อ, การให้เงินอุดหนุน เป็นต้น
  3. ขาดทุนจะไม่เสียภาษี เนื่องจากนิติบุคคลเสียภาษีประจำปี จากฐานกำไรตามจริง ดังนั้น หากขาดทุนย่อมไม่เสียภาษี นอกจากนั้น ยังสะสมผลขาดทุนในปีก่อนๆ ได้สูงสุด 5 ปี เพื่อมาหักกลบ กับผลกำไรในปีปัจจุบัน เพื่อลดภาษีได้อีก
  4. เสียภาษีในอัตราสูงสุด 20% โดยจะคิดจากกำไรทางภาษีเท่านั้น และภาษีที่ต้องจ่ายภายใต้กฎหมายไทยมีอัตราสูงสุด 20% ซึ่งนี่ต่างจากอัตราภาษีแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่อัตราสูงสุดถึง 35% ซึ่งมากกว่าการเสียภาษีของนิติบุคคล
  5. เงินรายได้บริษัทแยกจากบุคคล เงินของธุรกิจและเงินเจ้าของธุรกิจแยกออกจากกันชัดเจน ทำให้เกิดความไม่สับสน ระหว่างเงินทั้งสองส่วน ถ้าธุรกิจเป็นแบบบุคคลธรรมดา หากมีการบริหารจัดการไม่ดี อาจทำให้ไม่สามารถควบคุมธุรกิจได้
  6. จำกัดความรับผิดชอบต่อหนี้สิน ตามมูลค่าหุ้นของแต่ละคนที่ลงทุน ถ้าบริษัทเกิดความเสียหายถึงต้องล้มละลาย คุณในสถานะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ก็จะสูญเสียสินทรัพย์ไปแค่ตามมูลค่าหุ้นเท่านั้น แต่ตัวคุณไม่ได้ล้มละลายตามบริษัทไปด้วย
  7. สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มีไว้เพื่อไปทำ “กำไร” ให้บริษัท สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ ส่วนรายจ่ายส่วนตัว หรือ รายจ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ นำไปหักค่าใช้จ่ายไม่ได้ เพราะถือว่าไม่เกี่ยวข้องกันธุรกิจ
  8. ติดต่องานง่าย มีสถานที่ตั้ง เพราะการจดนิติบุคคลเป็นการยืนยัน ตัวตนจริง มีการรับรองตัวตนจากภาครัฐ หรือสมาคมต่างๆ ที่เราเข้าเป็นสมาชิก จะมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มอบให้จากสมาคมที่เป็นสมาชิก เช่น การเข้าอบรมสัมมนาฟรี
  9. ขยายธุรกิจได้ง่าย การขายแฟรนไชส์บางครั้งมีลูกค้าจากต่างประเทศสนใจเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์จากเราไป เพื่อไปดำเนินธุรกิจหรือขยายกิจการในต่างประเทศ หากจดนิติบุคคลจะทำให้การค้าขายได้ง่ายขึ้น เพราะนักลงทุนมีความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นการส่งสินค้า วัตถุดิบ การจ่ายเงิน โอนเงิน การทำเอกสารต่างๆ จะทำได้สะดวกมาก

ข้อเสีย

ภ

  1. ขั้นตอนการจัดตั้งยุ่งยาก เพราะต้องใช้บุคคลในการจัดตั้งอย่างน้อย 2 ขึ้นไป ที่มีสำคัญมีหลายขั้นตอนกว่าจะจดทะเบียนแล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อ การยื่นต่อนานทะเบียน การประชุมผู้ถือหุ้น เลือกคณะกรรมการ เป็นต้น
  2. หน่วยงานรัฐดูแลเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตสินค้า การเสียภาษี การทุจริต หลอกหลวง เพื่อให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมาย แต่หากบริษัทดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายก็จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐด้านต่างๆ เช่นกัน
  3. ค่าใช้จ่ายในการบริหารสูง นอกจากการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการอื่นๆ ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน ค่าจ้างนักบัญชี สวัสดิการพนักงาน และอื่นๆ
  4. มีผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต เมื่อจดบริษัทฯ ต้องจัดทำบัญชีโดยผู้ทำบัญชี จัดทำงบการเงิน จัดประชุมผู้ถือหุ้น ส่งงบการเงินโดยมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบทุกปี และนำส่งภาษีประจำเดือน ประจำปี ที่กรมสรรพากร
  5. ผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป เป็นอีกหนึ่งความยุ่งยากของการจดทะเบียนนิติบุคคล บางครั้งอาจทะเลาะหรือขัดแย้ง อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ถึงขั้นไปต่อไม่ได้ ต้องปิดกิจการไปในที่สุด
  6. ความลับเปิดเผยได้ง่าย เนื่องจากมีผู้ถือหุ้น และคณะกรรมการหลายคน ต่างคนต่างมีความคิดเป็นของตัวเอง หากไม่สามารถทำงานในทิศทางเดียวกันได้ อาจเกิดปัญหา หรือบางครั้งนำเอาความลับ หรือสูตรการผลิตเปิดเผยนักลงทุนคนอื่น
  7. บางครั้งจ้างมืออาชีพบริหาร การจดทะเบียนนิติบุคคลบางครั้งอาจมีการจ้างมืออาชีพข้างนอกมาช่วยบริหารธุรกิจ จึงอาจทำให้คณะกรรมการตำแหน่งต่างๆ ไม่ตั้งทำงานอย่างเต็มที่ เพราะถือว่าจ้างมาแล้ว อาจทำให้งานไม่มีประสิทธิภาพได้

จดทะเบียนบุคคลธรรมดา

3

เป็นการจดทะเบียนพาณิชย์เหมาะกับธุรกิจขนาดเล็ก ที่มีเจ้าของทำงานเพียงคนเดียว ขายสินค้าหรือบริการง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ข้อดีของการจดแบบนี้ คือ ผู้ประกอบการจะไม่มีภาระในการทำบัญชีหรือยื่นส่งงบ และมีอิสระในการดำเนินธุรกิจอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาจขาดความน่าเชื่อถือในระยะยาว หาพนักงานยาก ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคาร รวมไปถึงยังทำให้เจ้าของธุรกิจต้องมีภาระหน้าที่ทางกฎหมาย ในการรับภาระหนี้สินของธุรกิจแบบไม่จำกัด

ข้อดี

2

  1. จัดตั้งได้ง่าย รูปแบบนี้ส่วนมากจะเป็นกิจการขนาดเล็ก เจ้าของลงทุนคนเดียว หรือในลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งมีบุคคลตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ตกลงทำธุรกิจและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน แต่มีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา
  2. มีความคล่องตัวสูง รวดเร็วในการบริการจัดการ เพราะตัดสินใจคนเดียวได้ ไม่เหมือนนิติบุคคลที่กว่าจะทำอะไรได้ก็ช้า เพราะเรื่องต่างๆ ที่จะทำและตัดสินใจต้องผ่านที่ประชุมก่อน
  3. จัดทำบัญชีเอง ไม่จำเป็นต้องจ้างนักบัญชี ขณะที่นิติบุคลต้องจ้างนักบัญชีตรวจสอบและรับรองบัญชี จึงทำให้ประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการจ้างนักบัญชีในส่วนนี้
  4. ต้นทุนการบริหารต่ำ เพราะเจ้าของกิจการสามารถบริหารจัดการคนเดียวได้ หรือบริหารกิจการร่วมกันระหว่างสามี-ภรรยา หรือครอบครัว ทำให้ไม่ต้องจ้างแรงงาน ไม่ต้องมีหลายแผนก เป็นต้น
  5. ข้อบังคับทางกฎหมายน้อย ธุรกิจเจ้าของคนเดียว ลงทุนคนเดียว ตัดสินใจคนเดียว กิจการรูปแบบนี้มีข้อบังคับทางกฎหมายน้อย แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเจ้าของต้องแบกรับภาระของกิจการไว้ทั้งหมด
  6. รับผลกำไรผู้เดียว บุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของ เป็นผู้นำเงินมาลงทุนและทำหน้าที่บริหารเอง เมื่อกิจการประสบผลสำเร็จมีผลกำไรก็จะได้รับผลประโยชน์เพียงคนเดียว ในขณะเดียวกันก็ยอมรับการเสี่ยงภัยจากการขาดทุนเพียงคนเดียวเช่นกัน
  7. มีอำนาจบริหารมาก ธุรกิจเจ้าของคนเดียว ลงทุนคนเดียว ตัดสินใจคนเดียว ทำให้มีอำนาจในการบริหารจัดการธุรกิจคนเดียว ไม่ว่าจะผลิตสินค้าใหม่ หรือขายแฟรนไชส์ ก็ตัดสินใจได้เลย ไม่ต้องรอผ่านที่ประชุม

ข้อเสีย

1

  1. ความน่าเชื่อถือน้อย เนื่องจากเป็นเจ้าของคนเดียว แม้จะทำร่วมกันในครอบครัว หรือ สามี-ภรรยา แต่ก็มีความเสี่ยงสูงในแง่ความรับผิดชอบต่างๆ อาจทำให้นักลงทุนที่อยากซื้อแฟรนไชส์ไม่กล้าตัดสินใจลงทุน เพราะกลัวจะถูกหลอก
  2. เสียภาษีในอัตราสูง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35% โดยการคำนวณภาษีมี 2 วิธี คือ วิธีที่ 1 เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีก้าวหน้า (เงินได้สุทธิ = รายได้ – รายจ่าย – ค่าลดหย่อน) และ วิธีที่ 2 รายได้นอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างแรงงานก่อนหักค่าใช้จ่าย x 0.5% หากคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้เสียภาษีตามวิธีที่ 1
  3. ขาดทุนยังต้องเสียภาษี เป็นการจ่ายภาษีแบบเหมาจ่าย แม้ในปีนั้นธุรกิจจะขาดทุนก็ต้องเสียภาษี แตกต่างจากนิติบุคคลที่ไม่ต้องเสียภาษี หากธุรกิจขาดทุน ที่สำคัญอาจถูกตรวจสอบจากกรมสรรพกรหากมีเงินโอนเข้าเยอะเป็นพิเศษ
  4. ทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย กิจการรูปแบบนี้แม้ไม่ต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แต่จะต้องเสียเวลาจัดทำรายงานเงินสดรับ-จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึงรายได้ รายจ่าย ผลกำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ และใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  5. ขอสินเชื่อได้ยาก เนื่องจากการจดทะเบียนบุคคลธรรมดา ทำให้มีความน่าเชื่อถือน้อย ทางสถาบันการเงินจึงต้องมีความเข้มงวดในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อ แม้จะเป็นธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ก็ตาม
  6. แบกรับภาระผู้เดียว เป็นการบริหารกิจการคนเดียว หรือ สามี-ภรรยา แต่จะต้องคิดเอง ทำเอง ตัดสินใจเองทุกอย่าง ไม่ต้องมีคณะกรรมการหรือหุ้นส่วนมาร่วมตัดสินใจด้วย หากลงทุนอะไรไปแล้ว เกิดความเสียหาย ก็ต้องรับผิดชอบผู้เดียว
  7. ระดมทุนได้ยาก เนื่องจากเป็นการการจดทะเบียนพาณิชย์แบบบุคคลธรรมดา ที่มีเจ้าของทำงานเพียงคนเดียว จึงส่งผลให้ธุรกิจอาจขาดความน่าเชื่อถือในระยะยาว หาพนักงานยาก ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากธนาคาร และยากต่อการระดมทุน เพราะนักลงทุนต่างๆ ไม่มีความเชื่อมั่นว่าหากลงทุนไปแล้ว จะได้ผลตอบแทนกลับมาหรือไม่

นั่นคือ ข้อดี-ข้อเสีย ของการจดทะเบียนธุรกิจ ทั้งแบบนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา เจ้าของธุรกิจที่อยาก ทำธุรกิจแฟรนไชส์ส์ ควรพิจารณาดูว่าการจดทะเบียนแบบไหน เหมาะสมกับธุรกิจและตัวเองมากที่สุด


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3ik10OK

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช