ทำธุรกิจเอง vs ซื้อแฟรนไชส์ อย่างไหนดีกว่ากัน!

การมีธุรกิจเป็นของตัวเองถือเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายคน เพราะมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ อยากจะเปิดร้านหรือปิดร้านก็สามารถทำได้ตามใจ ไม่ต้องเป็นลูกจ้างคนอื่น ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎ หรือข้อบังคับต่างๆ ขององค์กร แต่หลายคนยังชั่งใจอยู่ว่าจะ ทำธุรกิจเอง หรือ ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ ที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วมาทำธุรกิจ

ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบการประกอบธุรกิจมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะวิเคราะห์อย่างละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบของการเริ่มต้นธุรกิจทั้งการ ทำธุรกิจเอง และซื้อแฟรนไชส์ ว่ามีข้อดี-ข้อเสีย และมีความน่าสนใจในการทำธุรกิจอย่างไรให้ทราบ เพื่อให้คนที่สนใจนำไปพิจารณาก่อนตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจให้เหมาะกับตัวเองครับ

#ทำธุรกิจเอง

ข้อดี

ทำธุรกิจเอง

1.อิสระและเป็นนายของตัวเอง

เมื่อมาทำธุรกิจเอง คุณก็จะได้เป็นนายของตัวเอง นั่นก็คือ เมื่อคุณคิดอะไรได้ คุณจะต้องสั่งตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆ ตามที่คิดออกมาตั้งแต่ทำของเอง ขายเอง เวลาได้กำไรหรือขาดทุนก็จะเป็นของคุณเอง ซึ่งทำให้คุณมีอำนาจในการบริหารงานได้อย่างเต็มที่ สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ และแน่นอนก็จะทำให้กิจการของคุณได้รับประโยชน์สูงที่สุด

2.ใช้ไอเดียบริหารธุรกิจได้เต็มที่

การทำธุรกิจเอง ถือได้ว่าเป็นการทดสอบฝีมือของตัวเองอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง และเมื่อเกิดปัญหา ก็จะต้องหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ดังนั้น การทำธุรกิจเอง จะทำให้คุณได้ฝึกทักษะด้านการบริหาร ฝึกความอดทน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของคุณเกือบจะทุกด้านก็ว่าได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่จะผ่านปัญหาและหาวิธีแก้จนทำให้ทุกวันนี้สามารถประสบความสำเร็จได้

3

3.มีรายได้และโอกาสร่ำรวยเร็วกว่า

การทำธุรกิจเองมีโอกาสที่จะร่ำรวยเร็วกว่าการเป็นพนักงานประจำทั่วไป เพราะธุรกิจเป็นของตัวคุณเอง คุณสามารถกำหนดอัตราค่าแรง ค่าจ้างให้กับพนักงานหรือลูกจ้างของคุณได้เอง ดังนั้น ยอดการขาย และรายได้ต่างๆ ที่เข้ามาหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างในแต่ละวัน แต่ละเดือน เงินที่เหลือก็จะเป็นของคุณเอง สามารถนำไปลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้มากขึ้นกว่าเดิม ตรงนี้คุณก็สามารถกลายเป็นเศรษฐีได้ไม่ยาก

4.ตัดสินใจและคิดการณ์ใหญ่ได้

การทำธุรกิจเอง ต้องมีเป้าหมายในการสร้างและนำพาธุรกิจให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคง ดังนั้น คนทำธุรกิจเองเมื่อธุรกิจเติบใหญ่สามารถคิดอะไรที่ใหญ่ๆ เพื่อขยายธุรกิจให้เติบโต มีรายได้มหาศาล คนที่ซื้อแฟรนไชส์ไม่สามารถคิดแบบนี้ได้ แต่ถ้าสามารถคิดได้ ก็อาจถูกคัดค้านจากเจ้าของแฟรนไชส์ ถ้าทำธุรกิจเองมีอำนาจตัดสินใจอย่างเต็มที่ จะทำอะไรก็ทำได้

5

5. ภูมิใจและทำในสิ่งที่ตัวเองรัก

เจ้าของธุรกิจทุกคน มักภาคภูมิใจกับการเป็นธุรกิจที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเอง เพราะเกิดขึ้นจากความรู้ความสามารถ น้ำพักน้ำแรงของตัวเอง แม้ว่าเราจะเริ่มจากเล็กๆ ก็ยังมีความภูมิใจ ได้ทำสิ่งที่ตนเองรัก ตนเองชอบ ถูกกับนิสัยและรักงานด้านนี้ เท่ากับเป็นพลังให้เราต้องทำและขยายให้ใหญ่โตขึ้นให้ได้ เกิดความมั่นคง ยั่งยืน

6.มีรายได้เพิ่มจากการขายแฟรนไชส์

การทำธุรกิจเองสามารถที่จะขายกิจการหรือขายแฟรนไชส์ให้กับนักลงทุนคนอื่นๆ ที่สนใจธุรกิจของคุณได้ อย่างกรณีร้าน “ซานตาเฟ่ สเต็ก” ก็ยังมีรายได้จากการขายกิจการให้กับกลุ่มสิงห์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ถูกซื้อโดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ในเมืองไทย สำหรับใครที่อยากเป็นเจ้าของแบรนด์อยู่ แต่อยากมีรายได้เพิ่ม ก็สามารถขายแฟรนไชส์ สร้างระบบที่ประสบความสำเร็จ ถ่ายทอดให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์นำไปบริหารจัดการธุรกิจแทน ช่วยลดต้นทุน และค่าใช้จ่ายๆ ในการขยายสาขา

ข้อเสีย

6

1.ค่าใช้จ่ายสูงในช่วงเริ่มต้น

การทำธุรกิจเอง ในช่วงการเริ่มต้นกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการสร้างธุรกิจให้เป็นที่ต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนในการจดทะเบียนธุรกิจต่างๆ การสร้างแบรนด์ให้คนรับรู้ การทำตลาดเพื่อขายสินค้า เงินทุนหมุนเวียนในการจ้างพนักงาน ถ้าคุณตัดสินใจลงทุนไม่ถูกต้อง ก็อาจต้องสูญเสียเงินทองทั้งหมดที่ลงไปกับธุรกิจ เรียกว่าจมไปกับธุรกิจ

2.ทำงานหนักในช่วงเริ่มต้น

โดยเฉพาะในระยะแรกที่ก่อตั้งธุรกิจ คุณจะต้องอดทน ต่อสู้ ใช้ความพยายามอย่างมาก ต้องทำทำงานหนัก ความสบายที่สามารถนอนหัวค่ำตื่นสาย ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มีวันหยุดสุดสัปดาห์ แล้วพาคราอบครัวไปเที่ยวนั้น ขอให้คุณตัดทิ้งไปได้ เพราะคุณต้องทำงานวันละ 14 ชั่วโมง เลิกงานแล้วต้องหอบงาน เอาเอกสารต่างๆ กลับไปทำและคิดต่อที่บ้าน

7

3.มีความเสี่ยงต่อการขาดทุน

การเริ่มต้นทำธุรกิจเองต้องยอมรับความเสี่ยงในข้อนี้ โดยเฉพาะช่วงการเริ่มต้นทำธุรกิจในระยะแรก พูดได้เลยว่ายังไม่มีรายได้ที่แน่นอน มิหนำซ้ำธุรกิจอาจขาดทุนอีกด้วย ถ้าหากธุรกิจหรือสินค้าของคุณไม่มีตลาดรองรับ ซึ่งต่างจากคนซื้อแฟรนไชส์ที่สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักของลูกค้ามาก่อนแล้ว เมื่อเปิดร้านก็ขายได้ทันที ซึ่งการทำธุรกิจเองในช่วงเวลา 3-5 ปี ยังต้องเสี่ยงต่อการขาดทุนอีกด้วย ถ้าหากไม่มีเงินทุนหมุนเวียนและสินค้าไม่เป็นที่ต้องการของตลาด

4.ต้องอดทนและทำเองทุกอย่างช่วงแรก

การทำธุรกิจเองในช่วงเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ การลงมือทำเองถือได้ว่าเป็นการเรียนรู้และสร้างประสบการณ์ไปในตัว และเป็นการป้องกันข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของตัวคุณ พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อคุณรู้ทุกอย่าง ทุกขั้นตอนเกี่ยวกับธุรกิจคุณแล้ว โอกาสที่คุณจะถ่ายทอดให้ลูกน้องได้ง่าย และถูกโกงก็ยากขึ้น ดังนั้น การในช่วงเริ่มธุรกิจอาจไม่ราบรื่นมากนัก คุณต้องอดทนและเรียนรู้งาน เมื่อตัวคุณมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจของตัวเองแล้ว เชื่อว่าธุรกิจของคุณก็จะมีความแข็งแรง โดยที่คุณไม่ต้องออกแรงมากเหมือนในช่วงเริ่มต้นต่อไป

4

5.ต้องใช้เวลาส่วนตัวเรียนรู้ตลอดเวลา

การทำธุรกิจเอง จำเป็นคิดเอง ทำเอง และต้องเรียนรู้ความสำเร็จจากเจ้าของธุรกิจคนอื่นๆ แม้คุณจะ “รวยแล้ว” หรือ “ประสบความสำเร็จ” ในระดับหนึ่งแล้ว ไม่ได้หมายความว่าคุณควรหยุด “เรียนรู้” และนี่คือสิ่งที่เจ้าของธุรกิจร้อยล้านมี เจ้าของธุรกิจระดับโลก รักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต พวกเขาไปงานสัมมนาบ่อยๆ เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานอื่น องค์กรอื่น เพราะเขาคิดว่า ไอเดียดีๆ จะมาจากที่ไหน เวลาไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น การเปิดรับตลอดเวลา คือสิ่งที่ฉลาดที่สุด

6.ต้องดิ้นรนเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด

การทำธุรกิจเองบางครั้งต้องมีภาระอันหนักหน่วงกว่าการซื้อแฟรนไชส์ ธุรกิจขาดทุนก็ต้องดิ้นรนหาหยิบยืมเงิน หรือกู้เงินจากที่อื่นมาหมุนเวียนใช้ในบริษัท ดังนั้น เจ้าของธุรกิจจะต้องใจสู้ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ แม้แต่ความล้มเหลว เป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากของการเป็นเจ้าของกิจการ เพราะแน่นอนว่าเส้นทางของการทำธุรกิจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

7.ต้องพร้อมถ่ายทอดสูตรให้คนอื่น

การทำธุรกิจเองมีโอกาสจะทำให้คุณเป็นเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ชื่อดังได้ ดังนั้น เมื่อขายแฟรนไชส์ให้คนอื่นไปแล้ว คุณก็ต้องพร้อมที่จะถ่ายความความสำเร็จของธุรกิจที่คุณได้ทำมาให้กับคนซื้อแฟรนไชส์ของคุณไป สูตรธุรกิจที่สร้างขึ้นมาหวงนักหวงหนาก็จะต้องให้คนอื่น เพื่อแลกกับรายได้จากค่าแฟรนไชส์ ค่าตลาดตลาดจากแฟรนไชส์ซีเหล่านั้น


#ซื้อแฟรนไชส์

ข้อดี

11

1.ได้สูตรความสำเร็จของการทำธุรกิจ

เจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์ได้วางระบบการทำงาน และการจัดการทุกอย่าง ทุกขั้นตอนไว้ให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ผ่านคู่มือแฟรนไชส์ รวมถึงการฝึกอบรมทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากบริษัทแฟรนไชส์ ทั้งก่อนเปิดร้าน และหลังเปิดร้าน

2.ได้แบรนด์ธุรกิจที่มีชื่อเสียงในตลาด

ผู้ซื้อซื้อแฟรนไชส์สามารถเลือกธุรกิจที่มีชื่อเสียงและแบรนด์ธุรกิจที่ตัวเองชอบ หลังจากติดต่อเจรจาซื้อแฟรนไชส์เสร็จแล้วก็สามารถเปิดร้านและขายทำเงินได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาทำตลาด เพราะสินค้าและบริการเป็นที่รู้จักของลูกค้ามาก่อนแล้ว

8

3.มีทีมงานคอยช่วยเหลือและสนับสนุน

นอกจากผู้ซื้อแฟรนไชส์จะได้ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังได้รับความช่วยและสนับสนุนจากบริษัทแม่แฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำต่างๆ ในการบริหารธุรกิจ การทำตลาด โปรโมชั่น การจัดส่งสินค้า-วัตถุดิบ และอื่นๆ ตลอดอายุสัญญา

4.ไม่มีประสบการณ์ก็สามารถทำธุรกิจได้

คนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองด้วยการซื้อแฟรนไชส์ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้และประสบการณ์เหมือนกับการทำธุรกิจเอง เพราะเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ วิธีการทำงานต่างๆ จนมีความชำนาญและสามารถเปิดร้านได้

12

5.มีโอกาสซื้อวัตถุดิบราคาถูกกว่าตลาด

แบรนด์แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียง สินค้าและบริการได้รับความนิยมจากผู้บริโภค จะได้เปรียบในเรื่องของการต่อรองซื้อสินค้าและวัตถุดิบในตลาด ซึ่งจะทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์มีโอกาสในการสั่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบในราคาถูกกว่าท้องตลาด เพราะเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์มีอำนาจในต่อรองกับซัพพลายเออร์ต่างๆ ในการสั่งซื้อหรือผลิตสินค้าจำนวนมากๆ ได้

6.เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจง่าย

ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์หลายแบรนด์ ทั้งลงทุนต่ำ และลงทุนสูง ได้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อแฟรนไชส์กับธนาคารพาณิชย์ของไทย เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพให้คนไทย ไม่ว่าจะเป็น ออมสิน กสิกรไทย กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ ธ.ก.ส. ฯลฯ ทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ขอสินเชื่อเริ่มต้นธุรกิจได้ง่าย แต่ต้องเป็นผู้ได้รับสิทธิจากเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์เสียก่อน

7.สามารถทำควบคู่กับการทำงานประจำได้

ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆ แบรนด์สามารถทำควบคู่กับการทำงานประจำได้ เพราะสามารถบริหารจัดการด้วยการจ้างผู้จัดการร้านช่วยบริหารและดูร้านแทนได้ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ต้องอยู่ที่ร้านทั้งวันก็ได้ อาจเข้าไปดูร้านช่วงเช้าหรือช่วงเย็นได้

ข้อเสีย

9

1.ขาดความเป็นอิสระในการบริหารธุรกิจ

ผู้ซื้อแฟรนไชส์จะต้องปฏิบัติตามเอกสารที่ระบุในสัญญาแฟรนไชส์ เพื่อรักษามาตรฐานของแบรนด์แฟรนไชส์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากทำผิดเงื่อนไขและสัญญา ก็อาจถูกเจ้าของแฟรนไชส์ฟ้องร้อง หรือยกเลิกสัญญาแฟรนไชส์ได้

2.แบ่งรายได้ให้เจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์

นอกจากผู้ซื้อแฟรนไชส์จะจ่ายค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) ก่อนทำการเปิดร้านแล้ว ยังต้องจ่ายค่า Royalty Fee และ Marketing Fee ประมาณ 3-5% ของยอดขายในแต่ละเดือนให้กับเจ้าของแบรนด์แฟรนไชส์อีกด้วย

14

3.แฟรนไชส์ไม่ได้การันตีความสำเร็จ 100%

การซื้อแฟรนไชส์แม้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการทำธุรกิจเอง แต่ธุรกิจแฟรนไชส์ไม่การันตีความสำเร็จได้ 100% แม้แต่แบรนด์แฟรนไชส์ที่มีชื่อเสียง สินค้าและบริการได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ถ้าเปิดร้านในทำเลไม่ดี ก็มีสิทธิเจ๊งได้เช่นเดียวกัน

4.ธุรกิจมีโอกาสได้รับผลกระทบจากเครือข่าย

การซื้อแฟรนไชส์มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีที่แฟรนไชส์ซีรายอื่นๆ ทำเรื่องเสียชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรสชาติ การบริการ ความสะอาดภายมในร้าน และอื่นๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของแบรนด์แฟรนไชส์ที่ทำได้

13

มาถึงตรงนี้คงได้เห็นกันแล้วว่า การเริ่มต้นธุรกิจเอง และการซื้อแฟรนไชส์ มีข้อดี – ข้อเสีย แตกต่างกันอย่างไร จะว่าไปแล้วทั้ง 2 รูปแบบมีความเหมาะสมกับคนแต่ละคน ใครที่มีเงินทุนแต่ไม่มีประสบการณ์ แต่อยากมีธุรกิจก็ซื้อแฟรนไชส์ ส่วนคนที่มีความรู้ เก่ง มีทักษะ มีความชำนาญ ก็สร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง แล้วต่อยอดสู่แฟรนไชส์ก็ได้นะครับ


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3zbEssC

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช