ถึงเวลาต้องมองเรื่องขาดดุลการค้าดิจิทัลแล้วรึยัง

ผมศึกษาเรื่อง การเสียภาษี ของธุรกิจจากต่างประเทศที่เป็นธุรกิจออนไลน์ซึ่งคนไทยนิยมใช้กัน แต่รายได้ส่วนใหญ่ออกไปยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด ทุกวันนี้จะเห็นว่าคนไทยเริ่มปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เริ่มเข้าสู่บริการต่าง ๆ บนโลกออนไลน์มากขึ้น

ไม่ว่าจะซื้อซอฟต์แวร์ ดูหนัง ฟังเพลง ไลฟ์สไตล์ของเราเริ่มผูกอยู่กับออนไลน์มากขึ้น และปรากกว่าบริการต่าง ๆ บนออนไลน์ที่เราใช้และจ่ายเงินไปนั้นเป็นบริการของต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมจึงเริ่มเก็บข้อมูลดูว่าปัจจุบันคนไทยนิยมจ่ายอะไรกันไปบ้างซึ่งผมแบ่งออกได้ 11 กลุ่มคือ

การเสียภาษี

ภาพจาก goo.gl/nc2UcU ,  goo.gl/ESygbG

กลุ่ม e-Commerce หรือกลุ่มคนที่ซื้อสินค้าออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ซื้อผ่าน eBay, Alibaba, AliExpress, amazon ฯลฯ กลุ่ม Media & Advertising เช่น จ่ายเงินลงโฆษณากับ Google, Facebook, Line@, Twitter ฯลฯ

กลุ่ม Service ต่าง ๆ อย่างการใช้ซอฟต์แวร์บางตัว เช่น Evernote, Cloud Computing, Cloud Storage กลุ่ม Transportation หรือการเดินทาง บางคนนั่ง Grab หรือบางคนจองสายการบินผ่านเว็บไซต์ของต่างประเทศโดยตรง กลุ่ม Travel การจองโรงแรมต่าง ๆ เอง เช่น Booking.com, Airbnb (ผมเช็กมาแล้วปรากฏว่า Agoda มีการลงบันทึกรายได้ในประเทศไทยครับ)

d8

ภาพจาก goo.gl/YMYvcL

กลุ่ม Digital Content เช่น Netflix, iflix, JOOX, Spotify ฯลฯ ยังมี Digital Content อีกประเภทหนึ่งก็คือพวก porn จัดเป็นพวก adult content ในต่างประเทศมีเยอะบ้านเราก็มีการจ่ายให้กับพวกนี้ด้วยเหมือนกัน กลุ่มซอฟต์แวร์

เช่น การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์จาก App Store หรือ Play store กลุ่มเกมต่าง ๆ เดี๋ยวนี้มีทั้งพวกเกมและพวก in-app purchases ต่าง ๆ เยอะมากซึ่งรายได้จะวิ่งตรงไปต่างประเทศก่อนแล้วค่อยหักส่วนแบ่งกลับมายังผู้ให้บริการในประเทศอีกที หรือบางคนไปซื้อเกมเมืองนอกก็จ่ายให้เมืองนอกทั้งหมดเลย

d7

ภาพจาก goo.gl/Q7VR9B

กลุ่ม Infrastructure เราพูดถึงพวก Cloud ต่าง ๆ เช่น Google Cloud หรือบางคนก็ใช้ amazon จ่ายค่าเว็บโฮสติ้งต่าง ๆ กลุ่ม Financial พวกเพย์เมนต์ต่าง ๆ เช่น PayPal, AliPay ฯลฯ และ กลุ่มการพนัน betting ที่มีคนเล่นอยู่จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว เดี๋ยวนี้ไม่ต้องไปเข้าบ่อนแล้วแค่เปิดมือถือขึ้นมาก็สามารถเล่น Poker, Roulette, Slot และอื่น ๆ เวลาจ่ายเงินก็ใช้วิธีการรูดบัตรเครดิต

ที่ผมพูดมาหลายคนน่าจะคุ้น ๆ อยู่บ้าง บางคนก็ใช้อยู่ในชีวิตปกติ แต่เงินทั้งหมดที่จ่ายไปนั้นเป็นเงินเท่าไหร่ ผมลองเก็บข้อมูลของตัวเองว่าในหนึ่งเดือนผมจ่ายค่าบริการออนไลน์พวกนี้ไปเท่าไหร่ แล้วปีหนึ่งเท่าไหร่ ปีหนึ่ง ๆ ผมจ่ายไปหลายหมื่นบาทอยู่ครับ

อย่างผมใช้ Evernote ซื้อพื้นที่เก็บเมลใน Gmail เพิ่ม ดูหนังฟังเพลงด้วย iflix, Netflix ฯลฯ เหล่านี้บางคนที่ใช้บริการแล้วจ่ายไปทีละเล็กละน้อยไม่ได้มาเก็บข้อมูลไว้ว่าจ่ายไปเท่าไหร่ หากลองคิดดูบริการบางอย่างรวม ๆ แล้วมันเยอะมากเลยทีเดียว

d5

ภาพจาก goo.gl/29zTQo

ผมคาดการณ์ว่าปีหนึ่ง ๆ ค่าใช้จ่ายที่คนไทยจ่ายผ่านออนไลน์น่าจะหลายหมื่นล้านบาท และยิ่งเวลานี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยที่เริ่มหันมาใช้ออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

ผู้ให้บริการต่างก็พยายามหารายได้จากการเก็บค่าบริการต่าง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากเราปล่อยให้เป็นไปมากกว่านี้ นั่นหมายถึงคนไทยจะจ่ายเงินออกนอกประเทศโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

สรรพากรเองก็เริ่มมองเห็นถึงจุดนี้แล้วเช่นกัน โดยส่วนตัวผมก็ค่อนข้างจะกลัว ๆ อยู่เหมือนกัน และเมื่อมีโอกาสได้เข้าไปคุยกับทีมสรรพากรจึงเอาความกังวลเหล่านี้ไปพูดคุยว่าจริง ๆ มันเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเยอะแล้วนะ

และสิ่งหนึ่งที่ผมพยายามกระตุ้นให้ภาครัฐทำออกมาก็คือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้เห็นข้อมูลเหล่านี้มากขึ้น ความจริงข้อมูลเหล่านี้ธนาคารทุกธนาคารจะมีหมด เพราะรายชื่อของทุกบริษัทจะปรากฏบนสเตทเม้นท์ของบัตรเครดิตที่เราใช้ สามารถขอความร่วมมือให้ธนาคารแต่ละแห่งดึงข้อมูลแล้วนำไปรวมไว้ให้กรมสรรพากรขับเคลื่อนในเรื่องนี้ได้

d4

ภาพจาก pixabay.com

การเสียดุลการค้าของไทยกับต่างประเทศมันมหาศาลมาก ๆ หากอยากรู้ว่าเราเสียดุลไปเท่าไหร่ เงินไหลออกไปเท่าไหร่ ดูได้จาก รายงานระบบการชำระเงินประจำปี ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะมีการขอข้อมูลจากธนาคารต่าง ๆ เพื่อทำการรวบรวมซึ่งมีออกมาทุกปีและเป็นข้อมูลที่ดีมาก

ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถสรุปได้ว่าทุกวันนี้มีคนไทยจ่ายเงินออกไปต่างประเทศเท่าไหร่ และหากสามารถ (แต่จะผิดขั้นตอนหรือ privacy หรือไม่) บอกได้ว่าจ่ายออกไปยังท็อปเท็นของกลุ่มบริษัทต่างประเทศที่คนไทย เช่น Google ฯลฯ จะทำให้เราเริ่มเห็นอะไรบางอย่างด้วยเหมือนกัน อย่างน้อยข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราตั้งรับอะไรบางอย่างได้

เรื่องของ data เป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อเราเห็น data เราจะเริ่มมาวางกลยุทธ์ได้ว่าจะทำอะไรต่อไป ตอนนี้สรรพากรเองพยายามจะทำกฎหมายตัวหนึ่งที่ว่าธุรกิจใดก็ตามเมื่อมีรายได้จากคนไทยจะต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย โดยได้มีการคุยกันมาสักระยะหนึ่งและได้มีการทำประชาพิจารณ์ออกมาแล้ว

ผมเห็นด้วยกับกฎหมายนี้เพราะแนวโน้มคนไทยเริ่มจ่ายเงินออกไปนอกประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ หากมีกฎหมายตัวนี้เกิดขึ้นบริษัทต่าง ๆ ที่อยู่ในต่างประเทศก็จะต้องมาเสียภาษีในประเทศไทยให้ถูกต้อง หรืออาจเชิญให้บริษัทเหล่านั้นให้มาตั้งบริษัทในประเทศไทยหรือในเขต EEC มาจ้างแรงงานคน และเอาองค์ความรู้เข้ามาในประเทศไทย เพื่อทำให้ธุรกิจโตมากขึ้นแต่โตในประเทศไทย รายได้ก็มาลงบันทึกในประเทศไทย

c1

ภาพจาก pixabay.com

การขาดดุลการค้าดิจิทัลยังไม่ถูกยกขึ้นมาเป็น issue ของประเทศสักที ตอนนี้เรากำลังส่งเสริมเศรษฐกิจหลาย ๆ อย่าง แต่ในแง่ของดิจิทัลเราก็พยายามเป็นไทยแลนด์ 4.0 เพียงแต่ว่าเราสร้างนักรบดิจิทัลออกมาไม่เพียงพอ และข้อมูลที่เรามีอยู่ก็น้อยไป

ท่านใดที่มีความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้และอยากลองทำข้อมูลตรงนี้ หากสนใจผมยินดีจะร่วมมือ ผมว่าตรงนี้สำคัญมากเพราะตอนนี้เศรษฐกิจมุ่งเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น เงินนับหมื่นนับแสนล้านกำลังไหลเข้าสู่ดิจิทัล แต่ดิจิทัลนั้นไม่มีพรมแดน

ฉะนั้นเราต้องรู้ว่าเงินไหลออกไปด้วยดิจิทัลเท่าไหร่ และในขณะเดียวกันมันไหลกลับเข้ามาในประเทศผ่านดิจิทัลของไทยเท่าไหร่ด้วย และพอเมื่อเรารู้ทั้ง inbound และ outbound แล้วก็จะสามารถนำมากำหนดเป็นกลยุทธ์ต่อไปได้

 

เขียนโดย : คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต