ถาม-ตอบเรื่อง การส่งสินค้าไปขายในเมียนมาร์

ผู้ประกอบการธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้าไทย ที่กำลังมองหาช่องทางในการส่งออกสินค้าไปขายในประเทศเมียนมาร์ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สินค้าประเภทไหนเป็นที่ต้องการของชาวเมียนมาร์ และถ้ามีสินค้าแล้วหากต้องการนำสินค้าไปวางขายที่เมียนมาร์จะต้องติดต่อใคร แล้วจะนำสินค้าไปขายผ่านช่องทางไหนได้บ้าง

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีเทคนิคและวิธีการส่งออกสินค้าไทยไปขายในประเทศเมียนมาร์ ผ่านการตอบคำถามของผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออก ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มาดูพร้อมๆ กันเลยครับ

1.คนพม่าชอบสินค้าไทยหรือเปล่า

ผู้ประกอบการธุรกิจ

ภาพจาก goo.gl/nEbZkA , goo.gl/QaGkGm

ลักษณะของประเทศพม่ากับประเทศไทย มีชายแดนติดกัน และที่ผ่านมาประเทศพม่าปิดประเทศ ไม่ติดต่อกับประเทศใดๆทำให้ประชาชนทั่วไปของพม่า มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด ส่วนของชายแดนไหนติดกับประเทศใด ก็จะมีความคุ้นเคยกัน วัฒนธรรมก็ผสมกันไป ประเทศไหนด้อยกว่าก็จะเลียนแบบประเทศที่เจริญกว่า ประเทศไหนไม่มีสินค้าก็จะซื้อสินค้าจากแหล่งสะดวกที่สุด

ในอดีตที่ผ่านสินค้าไทยได้ทะลักเข้าไปสู่ตลาดพม่า โดยผ่านชายแดนเป็นสำคัญ ดังนั้น ประชาชนพม่าทั่วไปก็จะมีความคุ้นเคยกับสินค้าไทย และรู้จักสินค้าไทยมาโดยตลอดตั้งแต่เกิด ประกอบกับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สินค้าไทยเป็นสินค้าที่อยู่ในความนิยมของประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด รวมทั้งพม่าด้วย

ดังนั้น จะพบว่าตามหัวเมืองต่างๆ ของประเทศพม่า ตามร้านค้าจะมีสินค้าไทยวางขายอยู่อย่างแพร่หลาย และนี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ว่าสินค้าไทย จะโดนทำปลอมและลอกเลียนแบบ เพราะได้ชื่อว่าสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าไทย ซึ่งจะขายได้ง่ายกว่าสินค้าที่มาจากแหล่งอื่นๆ

หากถ้ามีโอกาสเดินทางไปตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วพม่า ไปตามตลาดแต่ละเมือง จะพบว่าพ่อค้าแม่ค้า เวลาประกาศโฆษณาขายสินค้า เขาจะประกาศว่าสินค้ามาจากประเทศไทย

สำหรับกรณีการลอกเลียนแบบสินค้า ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญกับเครื่องหมายการค้าของตน และควรที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในพม่า เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ

2.ทำธุรกิจที่พม่า จะทำที่ไหนดี

gg30

ภาพจาก goo.gl/FCFS5E

พม่าเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่าประเทศไทย คือพื้นที่ 677,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าประเทศไทยที่มีพื้นที่ 522,000 ตารางกิโลเมตร ประชากรพม่ามีประมาณ 60 ล้านคน ไทยมีประชากรประมาณ 67 ล้านคน ซึ่งหากดูภาพรวมๆแล้ว ก็จะพบว่า ไทยกับพม่าจะมีสัดส่วนที่พอๆ กัน

การทำธุรกิจในพม่าก็เหมือนกับประเทศไทย ที่เมืองหลวงเป็นที่ตั้งของเศรษฐกิจที่สำคัญ ดังนั้น การทำธุรกิจหากยังไม่ลงรายละเอียดว่าเป็นธุรกิจประเภทใด หรือว่าเป็นสินค้าใด คำตอบง่ายสุด คือต้องเลือกทำธุรกิจที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ ที่มีขนาดใหญ่อันดับหนึ่ง หรือสองตามลำดับ

สำหรับพม่าก็คือ กรุงย่างกุ้ง และที่เมืองมัณฑะเลย์ ส่วนกรุงเนปิดอร์ที่เป็นเมืองหลวงนั้น เนื่องจากเนปิดอร์เป็นเมืองหลวงที่เกิดขึ้นมาใหม่ ได้ 7 ปี สภาพทั่วไปจะเป็นเมืองราชการ ระบบเศรษฐกิจยังไม่ใหญ่เท่าไร อาจจะยังไม่เป็นที่น่าสนใจเท่าที่ควร

ยกเว้นหากต้องการเข้าไปทำธุรกิจด้านการโรงแรม ก็อาจจะเป็นอีกแห่งหนึ่งที่จะเป็นตัวเลือกได้ แต่หากเป็นธุรกิจอื่นๆ แล้ว ก็จะหนีไม่พ้นสองเมืองที่ได้กล่าวได้แล้วข้างต้น อันนี้ไม่รวมการเข้าไปทำธุรกิจด้านทรัพยากรธรรมชาติ

3.เริ่มทำธุรกิจที่พม่า จะเริ่มอย่างไร

gg31

ภาพจาก goo.gl/fQrvSR

จะเห็นได้ว่าพม่ามีศักยภาพด้านตลาดมาก โดยเฉพาะกับคนไทย สินค้าไทย แต่ปัญหามีอยู่ว่า ผู้ประกอบการไทยเข้าใจตลาดพม่าหรือไม่ เข้าใจพม่าด้านไหนบ้าง เหมือนกับว่าหากเราเข้าใจโจทย์ผิด คำตอบก็มีแนวโน้มผิดค่อนข้างสูง

ดังนั้นวิธีการที่จะทำธุรกิจในพม่า สิ่งแรกที่ควรทำคือ การปรับ หรือการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับตลาดพม่าก่อน เมื่อเข้าใจตลาดพม่าแล้ว สิ่งที่เป็นคำถามตามมา คือ ตัวเราสนใจทำธุรกิจแบบไหนในตลาดพม่า เนื่องจากโครงสร้างของตลาดพม่า

จะมีความคล้ายกับประเทศไทย ย้อนกลับไปประมาณ 40-50 ปี ซึ่งช่วงดังกล่าว ประเทศไทยอยู่ในยุดของการนิยมสินค้าจากต่างชาติ ระบบการผลิตไทยสินค้ายังไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับพม่าในขณะนี้ ก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน คือ ต้องการซื้อสินค้าที่มาจากต่างประเทศเท่านั้น เพราะเชื่อว่าสินค้ามีมาตรฐานที่ดีกว่า มีคุณภาพดีกว่า ทั้งนี้ ความต้องการดังกล่าวของพม่า ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ที่สินค้าปัจจัย 4 ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพอยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่เราว่า สินค้าที่เรามีสามารถแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้หรือไม่

เพราะอย่าลืมว่า สภาพของประเทศพม่า กำลังการซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ ก็ยังหนีไม่พ้นในเรื่องความต้องการสินค้าราคาถูก ดังนั้น สินค้าของไทยที่สามารถขายได้ในเมืองไทย ก็อาจจะมีราคาแพงในสายตาคนพม่า

ส่วนใหญ่แล้ว การเริ่มทำธุรกิจในตลาดพม่า จะเริ่มกันที่ ซื้อมาขายไป คือ เมื่อเราทราบความต้องการของตลาดแล้ว ก็จะนำสินค้าตามความต้องการมาเสนอขาย จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด และก็ลดความเสี่ยงมากที่สุดในการเริ่มต้นทำธุรกิจ และจะเริ่มอย่างไร ตอบแบบง่ายๆ คือ ก็ไปหาคนที่ต้องการซื้อ ก็ต้องถามต่อว่าแล้วหาที่ไหน

การหาคนซื้อ เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งภารกิจหลักของสำนักงานฯ คือ ทำอย่างไรให้สินค้าไทยสามารถขายในประเทศพม่าให้ได้มากที่สุดและยั่งยืนที่สุด

ซึ่งในระบบของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ก็จะมีการติดต่อนักธุรกิจพม่าไว้อยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถให้กรมฯ แนะนำผู้ซื้อ หรือนักธุรกิจพม่าเพื่อการติดต่อเจรจาการค้าได้

กล่าวโดยสรุป การเข้าใจตลาด และการมาที่สำนักงานฯ คือ จุดเริ่มในการทำธุรกิจในตลาดพม่า เป็นแนวทางที่น่าจะดีที่สุด และประหยัดที่สุด

4.ส่งเครื่องสำอางไปขายที่พม่าจะต้องติดต่อใคร

gg32

ภาพจาก goo.gl/jBPVqz

ตลาดเครื่องสำอางในตลาดพม่าปัจจุบัน ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะได้รับกระแสมาจากการเปิดประเทศ เหมือนกับว่ามีคนมาเยี่ยมมากขึ้น ก็ต้องทำหน้าตาตัวเองให้ดูดีขึ้น ลักษณะช่องทางการจำหน่ายสินค้าเครื่องสำอาง จะมีอยู่ 3 ช่องทางหลัก คือ ช่องทางการจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าทั่วไป และจำหน่ายผ่านระบบขายตรง

ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยส่งเครื่องสำอางไปขายที่พม่า จะต้องติดต่อใครนั้น ผู้ประกอบการต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่าจะต้องการวางสินค้านั้นในช่องทางจำหน่ายไหน เพราะว่าหากเป็นช่องทางห้างสรรพสินค้า ผู้ส่งออกจะสามารถติดต่อกับเจ้าของห้างได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากในตลาดพม่านั้น เจ้าของห้างส่วนหนึ่งจะเป็นตัวแทนผู้นำเข้าสินค้าด้วย

5.ส่งสินค้าอาหารไปขายที่พม่าจะต้องติดต่อใคร

gg34

ภาพจาก goo.gl/fQrvSR

ประเด็นคำถามนี้ ผู้ประกอบการจะต้องบอกให้ได้ว่า อาหารที่จะส่งไปนั้น เป็นอาหารประเภทไหน ของแห้ง แช่แข็ง หรือว่าวัตถุดิบ เนื่องจากว่าโครงสร้างของผู้ประกอบการพม่า ที่จะเป็นผู้ซื้อจะมีความแตกต่างกัน หากเป็นของแช่แข็ง หรือว่าสำเร็จรูปแล้ว ผู้ที่จะเป็นผู้ซื้อหรือผู้นำเข้าทางศูนย์พัฒนาธุรกิจสู่สากล ก็จะแนะนำให้กับห้างสรรพสินค้า แต่หากเป็นรายการนอกเหนือจากนี้ ก็จะแนะนำให้ติดต่อกับตัวแทนสินค้าแบบทั่วๆ ไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ซื้อแต่ละหมวดหมู่ก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป เช่น หากผู้ซื้อที่เป็นห้างสรรพสินค้าจะมีจุดแข็งที่ว่าสินค้าของผู้ประกอบการไทย สามารถนำไปวางขายที่ห้างได้เลย มีสถานที่สำหรับวางขายสินค้าได้เลย แต่อาจจะพบปัญหาที่ว่าผู้ซื้อกดราคาสินค้า และกว่าจะได้รับเงินค่าสินค้า อาจจะใช้เวลาค่อนข้างนาน

แต่หากเป็นกรณีของผู้นำเข้าหรือผู้ซื้อที่เป็นตัวแทนนั้น สินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ส่งเข้าไปอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง สำหรับการหาสถานที่หรือช่องทางในการวางขายสินค้า เพราะว่าตัวแทนจะต้องใช้เวลาในการหาสถานที่

เนื่องจากส่วนหนึ่งไม่มีสถานที่เป็นของตนเอง แต่ก็มีข้อดีตรงที่เงื่อนไขทางการค้าของผู้ซื้อที่เป็นตัวแทนก็อาจมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ซื้อที่เป็นห้างสรรพสินค้า

ทั้งหมดเป็น 5 คำถาม-ตอบ สำหรับการส่งออกสินค้าไปขายในประเทศเมียนมาร์ ผู้ประกอบการธุรกิจ เจ้าของสินค้าหรือบริการ พ่อค้าแม่ค้า ที่ต้องการนำสินค้าไปขายในเมียนมาร์ ก็สามารถดูวิธีการนำสินค้าไปขาย รวมถึงช่องทางการขาย สถานที่ติดต่อในการนำสินค้าไปวางขายผ่านคำถาม-ตอบจากข้างบนได้ครับ น่าจะช่วยคุณได้มาก

อ่านบทความ SMEs goo.gl/2sHt5W
อ้างอิงข้อมูลจาก goo.gl/4oicvS


Tips

  1. ชาวพม่านิยมสินค้าเครื่องสำอาง อาหารจากประเทศไทย
  2. ผู้ประกอบการไทยควรจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ป้องกันการลอกเลียนแบบ
  3. ขายสินค้าในพม่าต้องพุ่งไปที่เมืองหลวง ย่านเศรษฐกิจ
  4. ชาวพม่าต้องการซื้อสินค้าราคาถูก
  5. ก่อนส่งออกควรหาข้อและปรึกษากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช