ตั้งเงินเดือน “พนักงานประจำร้าน” แบบไหน! ให้ธุรกิจไม่เจ๊ง

สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจไม่ใช่แค่ตั้งเป้าในเรื่องยอดขายอย่างเดียว รายจ่ายต่างๆ ก็ถือเป็นต้นทุนที่ธุรกิจต้องสนใจโดยเฉพาะ “ค่าจ้างพนักงาน” ที่มองเผินเราอาจคิดว่าไม่สำคัญ แต่พนักงานนี่แหละคือหัวใจของการอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจ

www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวมวิธีการตั้งเงินเดือน “พนักงาน” สำหรับคนที่เปิดร้านค้าหรือคนที่ทำธุรกิจได้มีแนวคิดว่าควรตั้งฐานเงินเดือนแบบไหนอย่างไร ให้พนักงานพอใจและธุรกิจตัวเองอยู่รอดต่อไปได้

1. ฐานเงินเดือนตามขนาดของธุรกิจ

พนักงานประจำร้าน

ภาพจาก facebook.com/crepesaday

การให้ระบุว่าเงินเดือนเท่าไหร่ของแต่ละธุรกิจต้องไปศึกษาโครงสร้างต้นทุนของแต่ละธุรกิจร่วมด้วย ตามหลักการของต้นทุนกำไรแล้ว เงินเดือนของพนักงานส่วนใหญ่ต้องอยู่ประมาณ 15-18% ของยอดขาย แต่ถ้าเราเป็นมือใหม่ในการเปิดร้านให้ลองสังเกตธุรกิจในแบบเดียวกับเราที่เปิดอยู่ใกล้เคียงกับเรา ดูว่าเขาตั้งฐานเงินเดือนให้พนักงานเท่าไหร่

ซึ่งการตั้งฐานเงินเดือนตามขนาดของธุรกิจตัวเองและธุรกิจใกล้เคียง จะเป็นการดึงดูดคนให้อยากเข้ามาสมัครงานเพราะฐานเงินเดือนของเราไม่แตกต่างจากเจ้าอื่น แต่ทั้งนี้อย่าลืมเรื่องปริมาณลูกค้า กำลังการซื้อของคนในพื้นที่ รวมถึงหากเป็นร้านในต่างจังหวัดก็ต้องดูอัตราค่าแรงขันต่ำที่สัมพันธ์กับอำนาจการซื้อ ซึ่งร้านค้าต้องปรับอัตราค่าจ้างให้เหมาะสม เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้

2. จ่ายเงินเดือนตามกฏหมายแรงงานกำหนด

8

ภาพจาก facebook.com/mytaroto

ตามกฎหมายแรงงานกำหนดพนักงานมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ (ในกรุงเทพมหานครอัตราค่าแรงขั้นต่ำอยู่ประมาณ 330 บาท/วัน) ซึ่งทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง/วัน หรือไม่เกิน 48 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่หากเป็นพนักงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลร้านโดยเฉพาะร้านค้าที่เปิดในห้างสรรพสินค้าซึ่งต้องมีการเปิด-ปิด ตามเวลาที่ห้างกำหนด ช่วงเวลาในการทำงานอาจมากถึง 10-12 ชั่วโมง/วัน

การจ่ายค่าแรงเราสามารถเลือกทั้งแบบรายวันและรายเดือน โดยผู้ประกอบนิยมจ่ายค่าแรงเป็น 2 ครั้ง เช่น ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน ซึ่งการจ้างพนักงานตามอัตรากฏหมายแรงงานกำหนดถือเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพในการบริหารงานของเจ้าของธุรกิจ ซึ่งหากกิจการมีผลประกอบการที่ดีเจ้าของธุรกิจก็ควรเพิ่มอัตราค่าจ้างให้สมเหตุสมผลกับคนทำงานมากขึ้นด้วย

3 .เงินเดือน+ คอมมิชชั่น

7

ภาพจาก bit.ly/35cyKVk

บางธุรกิจมีการตั้งฐานเงินเดือนไว้ไม่สูงแต่น่าสนใจตรง “คอมมิชชั่น” ที่เหมือนเป็นการกระตุ้นให้พนักงานขยันขายมากขึ้น ตั้งใจทำงานมากขึ้น เพื่อให้ตัวเองมีรายได้มากขึ้น และธุรกิจก็มียอดขายมากขึ้นด้วย การจ่ายผลตอบแทนแบบเงินเดือน+คอมมิชชั่น จึงเป็นเหมือนแรงจูงใจที่ดี สัดส่วนการคิดค่าคอมมิชชั่นของแต่ละธุรกิจจะแตกต่างกันไปตามสัดส่วนกำไรที่ได้

ซึ่งค่าคอมมิชชั่นมีทั้งแบบจ่ายตามยอดขาย เช่น ยอดขาย 100,000 บาท ค่าคอมมิชชั่น 3% เท่ากับพนักงานมีรายได้เพิ่มอีก 3,000 บาท (ไม่รวมเงินเดือน) และยังมีค่าคอมมิชชั่นแบบขั้นบันไดเช่น ยอดขาย 100,000 ได้ 3,000 บาท ยอดขาย 150,000 บาท ได้ 4,000 หรือค่าคอมมิชชั่นตามผลกำไร เช่น 5% จากผลกำไร

ซึ่งหากธุรกิจคำนวณกำไรต่อเดือนได้ 30,000 บาท พนักงานจะได้ค่าคอมมิชชั่น 1,500 บาท หรือครั้งก็เป็นการจ่ายค่าคอมมิชชั่นตามจำนวนชิ้นที่ขายได้ ซึ่งก็เป็นการตกลงของเจ้าของกับพนักงานว่าจะมีรายได้ต่อชิ้นเท่าไหร่ แต่วิธีนี้ต้องตรวจสอบได้ด้วยว่ายอดขายตรงกับจำนวนสินค้าที่ขายไป เพื่อที่ธุรกิจจะได้มีกำไรจริงๆ

4. ตั้งเงินเดือนตามประสบการณ์

6

ภาพจาก facebook.com/Nbpancake

การตั้งเงินเดือนตามประสบการณ์มีข้อดีที่ช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ซึ่งในร้านค้า ร้านอาหาร เจ้าของธุรกิจอาจไม่ได้ลงมาดูแลเองทุกวัน ทุกครั้ง ดังนั้นต้องมีคนที่เหมือนดูแลธุรกิจแทนได้ นั่นหมายถึงว่าเขามีประสบการณ์ในการดูแลร้านเสมือนเป็นเจ้าของ มีอำนาจในการบริหารสต็อคสินค้า วัตถุดิบต่างๆ ตรวจเช็คความเรียบร้อย

ซึ่งพนักงานที่มีประสบการณ์นี้ยังช่วยประคับประคองพนักงานรุ่นน้องให้ทำงานต่อไปได้ การที่ธุรกิจใดก็ตามไม่ให้ความสำคัญกับพนักงานเก่าๆ ที่มีประสบการณ์ที่ทำงานแทนเจ้าของได้ หรือมัวคิดแต่จะจ้างพนักงานด้วยค่าตอบแทนถูกๆ เรียกว่า “ไม่ซื้อใจ” พนักงาน เท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายทางธุรกิจ

เพราะเมื่อใดก็ตามที่คนซึ่งมีประสบการณ์และทำงานได้รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากค่าจ้าง เขาอาจมองหาที่ใหม่ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า ธุรกิจนั้นๆก็จะไม่มีคนคอยประคับประคองแม้จะได้คนใหม่มาแทนแต่ก็ยังไม่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กร ไม่เข้าใจเทคนิคการทำงานที่ดี ด้วยยังไม่มีประสบการณ์ในงานที่ทำมากพอก็เป็นผลเสียหายต่อธุรกิจได้อย่างรุนแรงทีเดียว

5. “ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง” ไม่ต้องจ้างพนักงาน

5

ภาพจาก bit.ly/2RGzoq8

วิธีนี้อาจจะเหมาะกับธุรกิจขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มเปิดดำเนินกิจการ สายป่านอาจยังไม่ยาวพอ ต้นทุนอาจมีไม่มาก อะไรที่ประหยัดได้ก็ต้องประหยัด และอย่างนั้นจะ “ตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง” ไปเพื่ออะไร คำตอบคือ “เพื่อการจัดการด้านบัญชีอย่างเป็นระบบ” เป็นการวางโครงสร้างของธุรกิจที่พร้อมจะเติบโตในอนาคต ด้วยการจัดสรร งบรายได้ รายจ่าย ที่ต้องสอดคล้องกัน

หากยอดขายของร้านน้อย เงินเดือนที่จัดสรรมาให้ตัวเองก็น้อยแต่ต้องมีเพราะถือว่าเราคือพนักงานคนหนึ่งและ เมื่อธุรกิจมีรายได้ที่มากขึ้น การจัดสรรเงินเดือนมาให้ตัวเองก็ต้องปรับมากขึ้น ซึ่งการวางระบบรายจ่ายให้เป็นรูปเป็นร่าง เมื่ออนาคตธุรกิจเราเติบโตขึ้น มีการรับพนักงานเพิ่มขึ้น เราจะได้มีประสบการณ์ในการจ่ายเงินเดือนส่วนนี้ซึ่งถึงตอนนั้นก็คือเงินเดือนที่จ่ายให้พนักงานจริงๆ ส่วนตัวเจ้าของกิจการก็ไปรับรายได้จากผลกำไรในธุรกิจเป็นหลัก

ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจให้อยู่รอดต้องรู้จัก “รักษาคน” โดยเฉพาะคนที่ทำงานเก่ง ทำงานดี เข้าใจในระบบงาน เพราะคนเหล่านี้คือหัวใจขององค์กรที่เจ้าของธุรกิจสามารถเชื่อใจไว้ใจเพราะแน่ใจว่าคนเหล่านี้รู้ดีว่าต้องทำอะไรก่อนหลัง

ซึ่งการจ้างคนใหม่อยู่เรื่อยๆ ข้อเสียคือทำให้ธุรกิจไม่เติบโตเพราะต้องมาเสียเวลาสอนงาน กว่าพนักงานใหม่จะเข้าใจเนื้อแท้ของงาน บางทีพอเข้าใจก็อยู่กับเราไม่นานไปหางานใหม่ที่รายได้ดีกว่า ดังนั้นการรักษาคนจึงเป็นหัวใจที่สำคัญ เรื่องเงินเดือนคือแนวทางหนึ่งที่องค์กรควรใช้ในการรักษาคนทำงานให้อยู่กับธุรกิจได้นานๆ เพื่อโอกาสในการเติบโตที่มากขึ้น


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/35UPhgx

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด