จุดเริ่มต้น! แฟรนไชส์ ไทย แฟรนไชส์โลก

คุณเคยรู้ไหมว่าธุรกิจ แฟรนไชส์ ที่เรารู้จักมักคุ้นกันอยู่ทุกวันนี้ มีความเป็นมาและเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นคนเริ่มต้น จุดประกาย และพัฒนาระบบแฟรนไชส์จนเป็นต้นแบบให้กับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก เรามาย้อนดูพัฒนาการของระบบแฟรนไชส์ไปกับ www.ThaiSMEsCenter.com

จริงๆ แล้วระบบธุรกิจ แฟรนไชส์ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เริ่มต้นมาจากการให้สัมปทานแก่บริษัททำรางรถไฟ และบริษัทสาธารณูปโภคที่พยายามหาทางเร่งการเติบโตของบริษัท โดยการขายสิทธิ์ที่ได้รับสัมปทานรวมทั้งขายชื่อของกิจการและขายระบบการทำงานของตัวเองให้ผู้อื่น ซึ่งการดำเนินธุรกิจในรูปแบบนี้ได้ประสบความสำเร็จเกินคาด ธุรกิจแห่งใหม่ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กันได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง

แฟรนไชส์โลก

อย่างไรก็ตามว่ากันว่า ระบบแฟรนไชส์เริ่มมีเค้าโครงจากบริษัทขายจักร คือ ซิงเกอร์ โดยบริษัทแห่งนี้เป็นผู้ให้ความรู้ระบบการค้าปลีกแก่ร้านค้าลูกข่ายเป็นครั้งแรกในปี 1850 ซึ่งถือเป็นต้นแบบแฟรนไชซอร์ ซิงเกอร์นั้นใช้วิธีสร้างเครือข่ายการขายปลีกด้วยระบบพนักงานและการเป็นดีลเลอร์ ซึ่งกลุ่มที่เป็นเครือข่ายเหล่านี้จะต้องจ่ายค่าสิทธิ์ ในการเป็นผู้จัดจำหน่ายในระดับภูมิภาค และถึงแม้ว่าการจัดการในระบบของซิงเกอร์จะไม่สมบูรณ์ และไม่ประสบความสำเร็จนัก แต่ก็นับได้ว่าซิงเกอร์คือผู้สร้างระบบแฟรนไชส์ และมีการนำวิธีต้นแบบนี้ไปใช้จนกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันทั่วโลก

ในเวลาต่อมาอุตสาหกรรมรถยนต์ ปั๊มน้ำมัน และผู้ผลิตเครื่องดื่ม คือ เป๊ปซี่และโคล่า ได้เป็นผู้ที่คอยปรับปรุงระบบของแฟรนไชส์ให้ดีขึ้น เนื่องจากขาดแคลนช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า จึงทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่มีเงินพอที่จะสร้างโรงงานหรือลงทุนเปิดร้านค้าจำนวนมากเพื่อใช้จำหน่ายสินค้า หรือลงทุนจ้างผู้จัดการ เสมียน และพนักงาน

w6

ขณะที่วิธีการขยายธุรกิจปั๊มน้ำมัน และเครื่องดื่มบรรจุขวดที่เราเรียกว่า Product Franchise ที่ให้สิทธิ์การผลิตและตราสินค้าเพียงรายเดียวสำหรับขายผลิตภัณฑ์นั้นๆในอาณาเขตที่ระบุ วิธีนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากจนทำให้บรรยากาศของระบบแฟรนไชส์โดดเด่นขึ้น แต่วิธีการให้สิทธิ์ตัวผลิตภัณฑ์ (Product Franchise) นี้ก็เริ่มเสื่อมถอยลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการเติบโตของระบบแฟรนไชส์ที่เรียกกันว่า Business Format Franchise หรือแฟรนไชส์เต็มรูปแบบเข้ามาแทนที่ โดย “เรย์ เอ คร็อก” ได้นำแมคโดนัลด์ เข้ามาในรูปแบบฟาสต์ฟู้ดแฟรนไชส์

ว่ากันว่า เรย์ เอ คร็อก เป็นผู้ที่เข้าถึงระบบแฟรนไชส์ และมองเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของระบบนี้ เขาก็เลยได้นำมาพัฒนาแมคโดนัลด์ให้เป็นแฟรนไชส์อย่างเต็มรูปแบบ (Business Format Franchise) จนประสบความสำเร็จ จากการสร้างธุรกิจเล็กๆ ให้เป็นธุรกิจขนาดมหึมาที่หลุดจากการเป็นเพียงภัตตาคารแฮมเบอร์เกอร์ ถือได้ว่าคร็อกคือผู้ที่มีสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการแฟรนไชส์โลกอย่างมาก จนบริษัทต่างๆทั่วโลกนำรูปแบบของเขาไปปฏิบัติตาม

w7

ขณะที่ธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีการริเริ่มมากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2526 ธุรกิจแรกๆ ที่พยายามผลักดันการขยายงานรูปแบบแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจด้านอาหารและร้านค้าแบบมินิมาร์ท แต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาในเรื่องความเข้าใจที่ถูกต้องของสิทธิ ที่มักให้แฟรนไชส์เป็นผู้ลงทุน ที่เน้นทำธุรกิจแบบซื้อเพื่อการลงทุน ไม่มีการมองถึงการสร้างธุรกิจของตนเอง บางครั้งยังใช้การบริหารแบบเก่าที่เน้นความเป็นระบบครอบครัวทำให้อัตราความล้มเหลวธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยในภาพรวมเพิ่มขึ้น บางครั้งการลงทุนของแฟรนไชส์ซีที่ประสบปัญหาเกิดจากการจัดการของตนเองบ้าง หรือก็เกิดจากระบบงานของบริษัทแม่ที่เน้นการขยายธุรกิจที่มุ่งผลทางการตลาด

สำหรับสถานการณ์แฟรนไชส์ไทยปัจจุบันพบว่ามีจำนวนแฟรนไชส์ที่เป็นแฟรนไชส์ซอร์ทั้งหมดประมาณ 400-600 ราย และมีจำนวนผู้ประกอบการแฟรนไชส์ซี่ ประมาณ 90,000-100,000 ราย ซึ่งในจำนวนแฟรนไชส์ซอร์ที่มีอยู่นั้นมีทั้งแฟรนไชส์ที่เป็น Chain Store กว่า 40-60 รายที่ไม่ได้ขยายแฟรนไชส์สาขาบริษัท เช่น สตาร์บัคส์ เคเอฟซี ฯลฯ ส่วนแฟรนไชส์อีก 90% เป็นซับแฟรนไชส์ ที่ขายแฟรนไชส์ให้รายย่อย เช่น เซเว่นฯ พิซซ่า เป็นต้น

w5

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า กิจการแฟรนไชส์ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก ซึ่งมีรูปแบบดำเนินธุรกิจในลักษณะของการขายส่งวัตถุดิบมากกว่า และมีการตกแต่งร้าน และใช้ชื่อแบรนด์เดียวกัน โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหาร ชา กาแฟ ซึ่งความเสี่ยงของแฟรนไชส์เหล่านี้คือมีการแข่งขันกันสูง ถ้าไม่มีความแตกต่างจะเสียเปรียบ

เห็นได้ว่าในยุคก่อนแมคโดนัลด์เป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จ แต่ด้วยสภาพการแข่งขันของธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน กิจการที่เคยสมบูรณ์แบบอย่างแมคโดนัลด์ก็จำเป็นต้องปรับปรุงตัวเองเพื่อความอยู่รอด มีการเพิ่มเมนูอาหารจานด่วนที่หลากหลาย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยต้องลุกขึ้นมาปรับปรุงตัวเองใหม่ สร้างความแตกต่างที่มีคุณภาพ ก่อนที่ตัวเองจะล้มหายไปจากตลาดเสียก่อน

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3xFI81t

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช