คนไทยต้องรู้ รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) Universal Basic Income นโยบายแจกเงินให้เปล่าทุกเดือน

เรื่องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในประเทศดูจะเป็นวาระแห่งชาติที่มีการพูดถึงกันมานานแสนนาน แนวคิดขัดแย้งต่างๆก็มีมากถึงขนาดที่หลายคนยกเอากรณีของต่างประเทศมาเปรียบเทียบกับคุณภาพชีวิตคนไทย

โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีพอ ยิ่งมาเกิดภาวการณ์แพร่ระบาดโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ แนวคิดเรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) Universal Basic Income หรือนโยบายแจกเงินเปล่าให้ประชาชนทุกเดือนอย่างถ้วนหน้าแบบไม่มีเงื่อนไขเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากขึ้น

แต่ www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่านโยบายนี้อาจถูกนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการหาเสียงหากมีการเลือกตั้งในอนาคต แต่เอาเข้าจริงๆ นโยบายนี้ก็ต้องผ่านการศึกษาอีกมาก แม้ในบางประเทศจะเริ่มทดลองใช้นโยบายบ้างแล้ว แต่ข้อก็ยังไม่การันตีว่าจะเป็นนโยบายที่ใช้ได้จริง เพราะมีคำถามตามมามากมายว่า รัฐจะจัดหารายได้จากไหนเอามาจ่ายเงินส่วนนี้ และการจ่ายเงินเปล่าให้ทุกเดือนแบบนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นได้จริงหรือ?

ทำไมรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) ถึงนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง?

คนไทยต้องรู้

ภาพจาก https://bit.ly/3ESzWil

แนวคิดและนโยบายสวัสดิการรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นใหม่แต่แนวคิดนี้มีมานานแล้ว แต่เพราะวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกและการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้แนวคิดนี้ถูกกลับมาพูดถึงในวงกว้าง จากเดิมที่มอง UBI ว่าเป็นนโยบายแก้ปัญหาเรื้อรังระยะยาว เช่นความยากจนและความเหลื่อมล้ำเท่านั้น

แต่สหประชาชาติออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เร่งพิจารณาใช้ UBI ซึ่งรัฐบาลสเปนได้ผ่านโครงการ UBI ออกมาในช่วงกลางปี 2020 ซึ่งเร็วมาก และกำลังจะเป็นหนึ่งในโครงการ UBI ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือจ่ายเงินเดือนละประมาณ 400-1,000 ยูโรให้คนในประเทศมากถึง850,000 คน

เอาอะไรเป็นเกณฑ์ว่าต่อเดือนควรจ่ายเงินเท่าไหร่

14

ภาพจาก www.freepik.com

รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI )คือการให้เงินรายเดือนแก่ประชาชนทุกคน โดยไม่มีเงื่อนไข เงินก้อนนี้มีค่าสูงกว่าเส้นความยากจน หรือระดับรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพในประเทศนั้นๆ เป็นรายได้ที่ทำให้คนๆ หนึ่งสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่เงินดังกล่าวไม่มากพอที่จะทำให้รวยโดยไม่ต้องทำงาน ซึ่งธนาคารโลกเคยประเมินว่าคนไทย 6.7 ล้านคน หรือราว 10% ของประชากร มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (poverty line) ซึ่งกลุ่มนี้มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ประมาณ 2,763 บาท/คน/เดือน

เท่ากับว่าถ้าประเมินจากเรื่องนี้ การจ่ายเงินแบบรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) ก็น่าจะประมาณคนละ 3,000 บาท/คน/เดือน อย่างไรก็ดีในทางกลับกันรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าคือการให้เงินแก่ประชาชนไปทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องแจ้งหรือใช้คืนให้รัฐ นั่นหมายความว่า รัฐให้อิสรภาพแก่ประชาชนในระดับที่เพียงพอให้แต่ละคนแก้ไขปัญหาและใช้ชีวิตตามความฝันของตนเอง

เช่น ในเยอรมัน 3 ใน 4 ของผู้มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เลือกที่จะรับเงินสดมากกว่าส่งเด็กหรือผู้สูงอายุไปอยู่ในความดูแลของพี่เลี้ยงหรือพยาบาล เพราะคนในครอบครัวสามารถดูแลเองได้ การให้เงินรายเดือนไปจัดการเองทำให้ประชาชนเอาเงินไปซื้ออาหารและของใช้จำเป็นสำหรับคนกลุ่มนี้แทน การแจกเงินจึงมีความยืดหยุ่นและแก้ปัญหาได้ตรงจุดกว่า

UBI เป็นนโยบายสวัสดิการที่ใครก็อยากได้ แต่ความจริงแล้วทำได้ยาก!

13

ภาพจาก www.freepik.com

เพราะการสรรหาเงินมาจ่ายนั้นมีจำนวนที่สูงมากพอนโยบายต้องใช้เงินมหาศาล สังคมก็จะกังวลว่านโยบาย UBI ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง รัฐต้องขึ้นภาษีหรือเปล่า รัฐต้องไปตัดงบประมาณส่วนอื่นหรือเปล่า ต้องตัดสวัสดิการที่ประชาชนเคยได้หรือเปล่า

และอีกหลายประเทศมองว่าแนวคิดแบบ UBI ไม่เหมาะสมเพราะคนเราไม่ควรงอมืองอเท้ารอรับเงินจากรัฐ ต่ควรต้องขวนขวายด้วยตัวเอง แล้วมองความยากจนว่าความผิดของปัจเจกเอง ไม่ใช่เป็นผลจากสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้คนที่ไม่เห็นด้วยยังมองว่านโยบายนี้อาจทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น คนทำงานน้อยลง รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อได้อีกด้วย

มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จะเกิด รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) ในประเทศไทย?

12

ภาพจาก www.freepik.com

นโยบายรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) ยังไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่เชื่อว่านโยบายนี้จะเป็นจริงได้หากเรามีระบบการเมืองที่แข็งแรงพอพรรคการเมืองร่วมกันผลักดันอย่างจริงจัง และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะไม่ต่อต้านอุปสรรคหลักน่าจะมาจากชนชั้นนำในภาคธุรกิจและราชการ เพราะการจัดหางบประมาณที่อาจนำไปสู่การเพิ่มภาษี ซึ่งก็จะกระทบคนรวย หรืออาจต้องตัดงบประมาณส่วนอื่นๆ ซึ่งก็จะกระทบราชการ

นอกจากนี้หากต้องการให้เกิดนโยบายนี้เกิดขึ้นในประเทศต้องทำให้คนมองว่าเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับพลเมืองทุกคน ต้องพยายามไม่ตั้งเงื่อนไขในการรับสวัสดิการ เหมือนกับสวัสดิการอื่นๆที่มี เช่น โครงการคนละครึ่งที่มีกำหนดเวลาในการใช้จ่าย กำหนดยอดเงินใช้ขั้นต่ำต่อวัน , หรือสวัสดิการค่าเลี้ยงดูบุตรที่กำหนดอายุขั้นต่ำ จำนวนบุตร เป็นต้น

ซึ่งการตั้งเงื่อนไขแบบนี้จะทำให้นโยบายเสียภาพความเป็นสิทธิ เพราะถ้าอะไรเป็นสิทธิ คนย่อมต้องได้เท่าเทียมกันโดยไม่มีเงื่อนไข

11

ภาพจาก www.freepik.com

สิ่งที่ยังกังวลตามมาอีกก็คือถ้าเรามีเงินเข้ามาง่ายๆ ในทุกเดือนโดยไม่ต้องทำงานจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมอะไรบ้างมีผลการศึกษานโยบายนี้จากประเทศเคนยาที่ระบุว่าถ้าจ่ายเงินน้อยแต่ถี่ คนจะนำเงินไปซื้ออาหารเพราะเงินก้อนไม่ใหญ่พอซื้อสิ่งของขนาดใหญ่ แต่ถ้าจ่ายเงินไม่ถี่แต่จ่ายก้อนใหญ่ คนจะนำเงินไปซื้อสินค้าคงทนต่างๆ และสิ่งของเครื่องใช้ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตได้

ในบางประเทศผลการศึกษาบอกว่าคนใช้เงิน UBI ไปซื้ออุปกรณ์ทำไร่ทำนา บางประเทศที่คนต้องย้ายถิ่นฐานเพื่อหาที่เพาะปลูกพืชใหม่เรื่อยๆ ตามสภาพอากาศ เงินจากโครงการ UBI ช่วยให้เขาไม่ต้องย้ายถิ่นฐานทุกปี ช่วยให้เขารอเพาะปลูกในพื้นที่เดิมในปีหน้าได้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการย้ายไปที่ใหม่ได้ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าคนแต่ละพื้นที่ใช้เงิน UBI เพื่อตอบโจทย์ชีวิตตัวเอง ซึ่งหลากหลายเกินกว่าที่ผู้วางนโยบายจะคิดแทนได้หมด

สำหรับประเทศไทยก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างจากต่างประเทศถ้ามีนโยบายแบบ UBI เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่แนวคิดนี้ก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้นโดยเฉพาะหากสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่ชัดเจนและปัญหาความแตกแยกในสังคมไทยที่ดูเป็นเรื่องควรแก้ไขเร่งด่วนยิ่งกว่า


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3BJLQJ9 , https://bit.ly/3nZhVb2 , https://bit.ly/3wfXLNC , https://bit.ly/3EGY8nr

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3wqzPHE

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด