การเตรียมความพร้อมสำหรับขายแฟรนไชส์ในต่างประเทศ

การขยายแฟรนไชส์ ในต่างประเทศ ถือเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายของผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆ แบรนด์ เพราะเป็นการก้าวออกไปเล่นในตลาดที่กว้างขึ้น เพิ่มโอกาสการเติบโตที่มั่นคงให้กับธุรกิจแฟรนไชส์สูง

ยิ่งหากระบบธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศมีความแข็งแกร่ง มีหลายสาขา สินค้าและบริการเป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมในท้องตลาด เมื่อคุณนำธุรกิจแฟรนไชส์ก้าวออกไปต่างประเทศ ก็อาจจะได้ค่าแฟรนไชส์มากกว่าอยู่ในประเทศก็ได้ แล้วแต่การเจรจาตกลง

แต่สิ่งสำคัญในการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์อาจจะต้องมีการออกแบบหรือวางระบบแฟรนไชส์ที่แตกต่างจากในประเทศ ไม่ว่าจะเป็น

  1. การออกแบบระบบแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
  2. การออกแบบคิดค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
  3. การออกแบบสัญญาแฟรนไชส์ในต่างประเทศ
  4. การเตรียมความพร้อมสำหรับการขายแฟรนไชส์ในต่างประเทศ และ
  5. กระบวนการคัดเลือกแฟรนไชส์ซีในต่างประเทศ

การขยายแฟรนไชส์

การเตรียมความพร้อมในสิ่งเหล่านี้ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เข้าคอร์สอบรมติวเข้มกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์โดยเฉพาะ ซึ่งทางกรมฯ จะมีการเพิ่มเขี้ยวเล็บ สำหรับการบุกตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะให้กับผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่มีความพร้อมมากพอ

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จึงอยากขอนำเสนอ 6 สิ่งที่ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ควรรู้ และต้องทำการเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ ก่อนที่จะขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปในต่างประเทศ

1.ศึกษาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ

dd6

แน่นอนว่าสภาพตลาดในแต่ละประเทศอาจไม่เหมือนกัน รสนิยมผู้บริโภคแตกต่างกัน จำนวนประชากรไม่เหมือนกัน พื้นที่หนึ่งอาจชอบหรือไม่ชอบสินค้าและบริการของคุณ

ดังนั้นผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่วางแผนขยายธุรกิจในต่างประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาและเรียนรู้สภาพตลาดของแต่ละประเทศก่อน ทำการทดลองตลาดก่อนว่าสินค้าและบริการของคุณจะขายได้หรือไม่ได้ เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคในพื้นที่หรือไม่ บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาในการทำตลาด ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดในแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้จะใช้เวลา 2-3 ปีก็ต้องทำ เพื่อปรับปรุงตัวคุณให้ดีขึ้น

2.เรียนรู้กฎระเบียบการลงทุน

dd2

ปัจจุบันหลายๆ ประเทศทั่วโลกยังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์บังคับใช้ แต่สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเริ่มมีกฎหมายแฟรนไชส์ (Franchise Law) บังคับใช้แล้ว โดยปัจจุบันมี 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์โดยเฉพาะมี 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา และบรูไน

สำหรับประเทศที่คุณต้องการขยายแฟรนไชส์ไปนั้น อาจต้องปฏิบัติตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของประเทศนั้นๆ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่คิดขยายแฟรนไชส์ในต่างประเทศ จะต้องทำความเข้าใจกฎระเบียบการลงทุนของแต่ละประเทศให้ถ่องแท้ หรือไม่ก็ต้องมีทีมกฎหมายที่เชี่ยวชาญการลงทุนในประเทศนั้นๆ คอยช่วยเหลือ

3.สร้างความสัมพันธ์และเรียนรู้แฟรนไชส์ซี

dd7

ถือเป็นสิ่งสำคัญหากคุณคิดที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศในรูปแบบของแฟรนไชส์ ถ้าคุณเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ดี มีความเข้าใจในเรื่องธุรกิจที่ตรงกัน ก็จะทำให้แฟรนไชส์ของคุณประสบความสำเร็จ

ก่อนที่คุณจะขายแฟรนไชส์ให้ใครต้องทำการศึกษาผู้ซื้อแฟรนไชส์อย่างละเอียดรอบคอบ ว่าเขาเป็นใคร มีความรู้ความสามารถในการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จหรือไม่ เขามีเครือข่ายในประเทศมากน้อยแค่ไหน

คุณอาจต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับแฟรนไชส์ซีอย่างต่อเนื่อง เดินทางไปมาหาสู่กันเรื่อยๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย ซึ่งจะนำไปสู่การไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพราะคุณไม่สามารถรู้ได้ว่าแฟรนไชส์ซีในประเทศนั้นคิดและทำอะไรบ้างเมื่อคุณกลับประเทศไทย เพราะนานๆ กว่าที่คุณจะได้ไปตรวจเยี่ยม ยิ่งถ้าแฟรนไชส์ซีมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคุณ เขาก็จะรักและบริหารสาขาแฟรนไชส์ของคุณเหมือนกับว่าเขาเป็นคนสร้างธุรกิจขึ้นมาเอง

4.มีความรู้ภาษาและวัฒนธรรมต่างประเทศ (ท้องถิ่น)

dd5

ถือว่ามีความสำคัญอยู่ไม่น้อยครับ เพราะระบบธุรกิจแฟรนไชส์จะประสบความสำเร็จในขั้นต้นได้ อย่างแรกคุณและผู้ซื้อแฟรนไชส์ในประเทศนั้นๆ ต้องสื่อสารกันรู้เรื่องก่อน มีความเข้าใจตรงกัน สินค้าและบริการของคุณต้องไม่เป็นสิ่งต้องห้ามในพื้นที่นั้นๆ แฟรนไชส์ซอร์ต้องมีความสามารถที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ทางธุรกิจให้กับแฟรนไชส์ซีได้

เพราะฉะนั้นแฟรนไชส์ซอร์และแฟรนไชส์ซีจะต้องสื่อสารและเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าคุณคิดจะขยายแฟรนไชส์ในต่างประเทศ จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมของเขาด้วย เพราะอย่างน้อยทุกเดือนคุณอาจจะต้องไปตรวจเยี่ยม ให้คำแนะนำ และฝึกอบรมให้กับพนักงานในสาขาต่างประเทศด้วย

5.กำหนดรูปแบบขยายแฟรนไชส์

dd4

ธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ถ้าขยายสาขาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะใช้รูปแบบขยายแฟรนไชส์แบบตัวแทน หรือ Master Franchise โดยจะให้สิทธิ์แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์หรือบริษัทในประเทศนั้นๆ รายแรกเพียงผู้เดียว สามารถทำการขยายสาขา หรือให้สิทธิ์แก่ผู้อื่นได้อีกตามแต่ได้ตกลงกันก่อนที่จะทำการเซ็นสัญญาซื้อขายแฟรนไชส์

แต่ถ้าคุณใช้รูปแบบอื่นๆ อาจมีความยุ่งยากกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการขยายแบบบุคคล และแบบพัฒนาพื้นที่ ดังนั้น ก่อนขยายแฟรนไชส์ในต่างประเทศ คุณต้องศึกษารูปแบบการขยายแฟรนไชส์ ว่าในแต่ละประเทศเหมาะกับรูปแบบการขยายแฟรนไชส์แบบไหน

6.วางแผนพัฒนาธุรกิจต่อเนื่อง

dd8

ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยหลายคนอาจคิดว่า ถ้าตนเองสามารถขยายสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศได้ 1 สาขา ก็ถือว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว แต่ความจริงไม่เป็นแบบนั้น เพราะระบบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นระบบที่จะต้องมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คล้ายๆ กับธุรกิจเครือข่าย ถ้ามีสาขามากเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น

ทั้งสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากๆ ได้ส่วนลด อีกทั้งระบบการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบก็จะถูกลงด้วย เพราะขนส่งครั้งเดียวได้หลายสาขาในประเทศนั้นๆ ดังนั้น ถ้าคุณมีสาขาเพียงแค่ 1 สาขาในต่างประเทศ รับรองว่าไม่คุ้มกับค่าเดินทางและการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบแน่

ถ้าจะให้ดีใน 1 ประเทศ คุณต้องวางเป้าหมายขยายสาขาให้ได้อย่างน้อย 10 สาขา ไม่ใช่ 10 ประเทศ 1 สาขา จะเห็นได้ว่าการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ในต่างประเทศ มีความยุ่งยากซับซ้อนอยู่ไม่น้อย เพราะอย่างที่เรารู้กันกฎระเบียบและสภาพตลาดในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ที่คิดจะขยายธุรกิจในต่างประเทศ ควรที่จะทำการศึกษาและวิเคราะห์เรื่องการลงทุนในประเทศต่างๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ รวมถึงการเรียนรู้ภาษาวัฒนธรรม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้รับสิทธิ์หรือซื้อแฟรนไชส์ในประเทศนั้นๆ เพราะถ้าคุณจะทำการรบต้อง “รู้เขารู้เรา”

ทั้งนี้ข้อมูลรายละเอียดข้างต้นนี้ เหมาะสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ที่เปิดดำเนินธุรกิจมาแล้วหลายปี ธุรกิจมีผลกำไรการเติบโตต่อเนื่อง มีการขยายสาขาในประเทศทั้งด้วยตัวเอง และระบบแฟรนไชส์ มากกว่า 10-15 สาขา ที่สำคัญต้องมีการสร้างระบบแฟรนไชส์ใหม่สำหรับในต่างประเทศด้วย

อ่านบทความแฟรนไชส์อื่นๆ คลิก goo.gl/fyMFm6
หรือเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/oyeOah

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/33gtaCv

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช