การเตรียมความพร้อมก่อนเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์

กระแสความตื่นตัว เรื่องแฟรนไชส์ กำลังมาแรง หลายคนมีความฝันว่า อยากจะรวยด้วยการขายแฟรนไชส์ แต่ทว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่ และจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร เพราะธุรกิจแฟรนไชส์เปิดโอกาสให้ธุรกิจรายเล็กเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

โดยไม่ต้องมีทุนมากนัก นี่คือข้อดีของระบบแฟรนไชส์ ที่ทำให้หลายคนหัวใจพองโต มีฝันที่จะปั้นธุรกิจของตัวเองให้เป็นแฟรนไชส์ให้ได้ แต่ก็ไม่แน่ใจเลยว่า กิจการของตัวเองจะทำแฟรนไชส์ได้หรือไม่เรื่องนี้มีคำตอบ

ความเป็นจริงก็คือ ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่เหมาะกับการทำแฟรนไชส์ และผู้ที่ประสบความสำเร็จในการทำแฟรนไชส์ก็ไม่ได้มีเยอะนัก แต่ถ้าคุณตั้งใจจริงจงศึกษาหาความรู้และเดินให้ถูกทาง กิจการของคุณก็อาจจะติดปีก เติบโตได้อย่างไร้ขีดจำกัด

แต่…สิ่งแรกที่ www.ThaiSMEsCenter.com อยากให้คุณทำความเข้าใจอย่างมาก ก็คือ คุณต้องประเมินตัวเองเสียก่อนว่า กิจการของคุณ มีความเป็นไปได้ในการเป็นแฟรนไชส์ หรือไม่

ประเมินความพร้อมก่อนเริ่มทำแฟรนไชส์

เรื่องแฟรนไชส์

1.คุณเป็นผู้ชำนาญ เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นยาวนานกว่า 5 ปีจนกระทั่งมีความรอบรู้ในปัญหาจากการดำเนินธุรกิจมากพอที่จะให้การปรึกษาแก่แฟรนไชส์ซี่ได้เป็นอย่างดี

ความช่ำชองในธุรกิจ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่ต้องมีแฟรนไชส์หลายรายที่มีอายุธุรกิจเพียง 1-2 ปีก็เปิดขายแฟรนไชส์แล้วคุณคิดว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ พวกเขาผ่านปัญหาในการดำเนินธุรกิจมาหลายรูปแบบ แล้วหรือยังพวกเขาจะบอกวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและได้ผลกับแฟรนไชส์ซีได้หรือไม่

มีแฟรนไชส์ที่มาจากต่างประเทศหลายราย ที่ซื้อแฟรนไชส์มาและมั่นใจมากว่า ระบบธุรกิจของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ที่ทำมาแล้วนานนับสิบๆ ปี จะทำให้ประสบความสำเร็จในไทย เขาจึงทำตัวเองเป็นเพียงเซ็นเตอร์ ในการติดต่อ โดยไม่มีร้านของตัวเองที่เปิดขึ้นในไทยเลยหรือมีก็เพียง 1 แห่ง

แน่นอนเขาขาดประสบการณ์ในการดำเนินงาน และความรู้เรื่องตลาดและพฤติกรรมในประเทศไทย แต่ในทางตรงกันข้ามบริษัทยักษ์ใหญ่ แม้แต่ 7-11 หรือ แฟมิลี่มาร์ท ที่เขาจะขายแฟรนไชส์ เขาเปิดร้านสาขาของเขาเองนำร่องไปก่อนหลายสิบแห่งทีเดียว ยิ่งคุณมีอายุในวงการธุรกิจมากเท่าไหร่ ความเป็นไปได้ที่จะก้าวสู่ความสำเร็จของคุณก็สูงขึ้นมากเท่านั้น

op2

2. ธุรกิจของคุณเปิดดำเนินการมาแล้ว มากกว่า 4-5 แห่ง

ถ้าคุณมีร้านที่เปิดขึ้นมาแล้ว คุณจะมีตัวเลขประมาณรายได้ค่าใช้จ่าย และผลกำไรที่คุณจะแสดงต่อแฟรนไชซี่ของคุณให้มั่นใจในแผนการดำเนินการบริหารร้านที่มีโอกาสประสบความสำเร็จแต่ถ้าคุณมีร้านที่เปิดขึ้นน้อยเกินไปข้อมูลความรู้ในการดำเนินธุรกิจของคุณก็มีน้อยเกินไปด้วย คุณคิดว่าจะดีกว่าหรือไม่ที่ร้านของคุณมีเปิดขึ้นมาแล้วสัก 4-5 แห่ง เพื่อทำให้คุณมีความแม่นยำในระบบการจัดการธุรกิจ

โดยมีข้อมูลที่ชี้เป็นตัวเลขที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ไม่มีใคร จะสามารถมาโต้แย้งตัวเลขที่เกิดจากข้อเท็จจริงนี้ได้ แม้แต่ตัวคุณเองก็จะเป็นทางการเงินและการจัดการได้อย่างอัตโนมัติดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ก่อนจะประกาศขายแฟรนไชส์ออกไปนั้น หมายถึงว่าคุณมีร้านต้นแบบที่เปิดดำเนินการอยู่แล้ว

3. ร้านของคุณที่เปิดขึ้นนั้นอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน

แม้คุณอาจจะมีร้าน 4-5 แห่งที่เปิดขึ้นมาแล้วแต่ถ้ามันอยู่เฉพาะในเขตนั้นที่ใกล้เคียงกันมันก็จะยังไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความเป็นไปได้ ของรูปแบบธุรกิจคุณสมมติว่าคุณมีร้านอาหารสไตล์ยุโรป คุณคิดว่าในเขตพื้นที่อื่นจะมีพฤติกรรมยอมรับรสชาติของอาหารและราคาในรูปแบบเดียวกันหรือไม่

แต่ถ้าร้านคุณเปิดในพื้นที่แตกต่างกันแล้วละก็ คุณก็จะรู้ได้ทันทีว่ามีปัญหาที่แตกต่างกันมากมาย ซึ่งจะช่วยให้คุณมีทักษะในการหามาตรการบริหารร้านที่อยู่ในกลุ่มของชุมชนที่ไม่เหมือนกัน
และสิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องการยอมรับของตลาด ขนาดของตลาดการมีร้านในเขตที่แตกต่างจะทำให้คุณมีรายงานทางการตลาดที่ดีกว่าที่ทำให้มั่นใจได้ว่าสินค้าและบริการของคุณเป็นที่ยอมรับในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันหรือไม่

op3

4. ร้านที่คุณเปิดขึ้นนั้น พิสูจน์แล้วว่าทำกำไรได้

ตัวเลขบรรทัดสุดท้ายก็คือ ตัวเลขที่แสดงผลกำไรที่เป็นจุดที่ต้องโฟกัสเป็นอันดับแรกถ้าผลของการคำนวณร้านของคุณไม่สามารถทำกำไรได้มันเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะนำระบบที่ไม่ประสบความสำเร็จนี้ไปขายให้คนอื่นนั้นถ้าธุรกิจของคุณยังไม่ทำกำไรคุณอย่าฝ่าฝืนหลักการสำคัญในข้อนี้เป็นอันขาดเพราะธุรกิจของคุณไม่มีความเป็นไปได้ที่จะระบบแฟรนไชส์

5. สินค้าและบริการของคุณมีตรา หรือชื่อ เป็นที่รู้จักในตลาดแล้ว

ถ้าใช่มีความเป็นไปได้ที่คุณจะประสบความ สำเร็จในการทำระบบแฟรนไชส์แต่ถ้าคุณยอมรับว่าสินค้า และบริการของคุณยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดหรือยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการ คุณก็จะต้องแก้ไขหากลยุทธ์แก้ความบกพร่องในเรื่องนี้เพื่อเสริมสร้างความเป็นไปได้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์ที่ได้ผล

มันไม่ยุติธรรมเลย ถ้าคุณไม่เคยลงทุนโปรโมทแบรนด์ของคุณมาก่อน หรือ ทำน้อยไป แต่คุณต้องเรียกเก็บค่าแฟรนไชส์ฟี จากผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ของคุณถึงแม้ว่าคุณสามารถขายแฟรนไชส์ได้เงินมา แต่แบรนด์ไม่เป็นที่รู้จักก็ไม่สามารถจูงใจคนเข้ามาซื้อสินค้าได้ทันที

ในทางตรงกันข้ามถ้าแบรนด์ของคุณเป็นที่ยอมรับในตลาดแล้ว และถ้าร้านของคุณเปิดขึ้นมาเมื่อไหร่ในที่ใดก็ตาม คนจะรู้จักและเชื่อในคุณภาพสินค้าและบริการของคุณทันที

คุณมีสิทธิแล้วที่จะได้รับเงินค่าประชาสัมพันธ์มาเป็นระยะเวลาหลายปี ด้วยเงินมหาศาล คุณอย่าลังเลในที่จะเรียกเก็บเงินจากผลประโยชน์ข้อนี้ ซึ่งแฟรนไชส์ซีส่วนใหญ่ยินดีจะจ่ายเพื่อใช้มัน และนี่เป็นความเป็นไปได้เบื้องต้น ที่คุณจะได้รับจากการมีชื่อเสียงที่ติดตลาดของคุณ

op4

6. คุณมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำตลาด

หรือสินค้าและบริการของคุณมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้นำตลาดหรือครองตลาดในวงการอันดับต้นๆ เมื่อคุณตัดสินใจที่จะขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์แล้ว คุณย่อมรู้ว่ามันมีโอกาสที่จะขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว อย่างแฟรนไชส์เบเกอรี่แห่งหนึ่ง

ถูกเย้ายวนให้เปิดขายแฟรนไชส์ โดยมีผู้อื่นมาขอซื้อแฟรนไชส์กันมากจนอดใจไม่ไหว เขาตัดสินใจขายแฟรนไชส์โดยที่ตัวเองนั้นไม่เคยมีความคิดมาก่อนว่าจะทำธุรกิจให้ใหญ่โต จนกระทั่งเขาขายแฟรนไชส์ได้ถึง 8 รายในเวลาอันสั้นอย่างคาดไม่ถึง

แต่เมื่อดำเนินธุรกิจไปได้ไม่นาน ก็ต้องหยุดชะงักและทยอยซื้อกลับคืน เพราะร้านที่เปิดขึ้นรายได้ไม่ค่อยดีนัก เขากล่าวว่า “ผมเองนอกจากจะไม่ความรู้เรื่องการตลาดแล้ว ยังไม่ให้ความสนใจกับมันอีกและนี่คือข้อผิดพลาดของผม เพราะมันผิดเป้าที่ตั้งไว้ ตั้งแต่แรกที่ผมตั้งใจแค่ทำร้านเบเกอรี่นี้เป็นเพียงแค่งานอดิเรก”

คุณทราบไหมว่า หลักการในการแนะนำแฟรนไชส์ซีในการเลือกซื้อแฟรนไชส์ที่ดีนั้น ก็คือ จงเลือกซื้อแฟรนไชส์ที่บริษัทแม่มีเป้าหมายในการเป็นผู้นำตลาด จะทำให้จุดมุ่งหมายของบริษัทแม่ มุ่งไปสู่การทำยอดขายที่กินแชร์สูงสุดในตลาดมากกว่าการมุ่งขายสินค้าให้กับแฟรนไชส์ซี ที่จะมีผลทำให้ร้านของแฟรนไชส์ซีได้รับผลประโยชน์จากการตั้งเป้าข้อนี้

7. สินค้าและบริการของคุณมีตลาดกว้าง

เคยมีผู้ถามว่าธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อทำแฟรนไชส์ได้หรือไม่ นี่คือตัวอย่างของธุรกิจที่เป็นไปไม่ได้ในการทำระบบแฟรนไชส์ เนื่องจากมีความต้องการของตลาดอย่างจำกัด ไม่เหมาะในการขยายตัวด้วยวิธีแฟรนไชส์

สินค้าและบริการที่คุณจะนำมาสร้างระบบแฟรนไชส์ จะต้องมีตลาดใหญ่พอสมควร จึงจะเป็นไปได้ที่จะทำระบบแฟรนไชส์ แต่ถ้าคุณคิดดูแล้วว่าธุรกิจของคุณมีกลุ่มผู้ซื้อผู้ใช้ค่อนข้างจำกัด คุณควรหาวิธีอื่นเพื่อขยายธุรกิจจะเหมาะสมกว่า

op5

8. สินค้าและบริการของคุณมีจุดเด่นที่แตกต่างเหนือคู่แข่งขันหรือไม่

ร้านข้าวแกง ร้านก๋วยเตี๋ยวสามารถเป็นแฟรนไชส์ได้ ถ้ามีจุดเด่นที่แตกต่างจากผู้อื่น แต่ถ้าคุณยังธรรมดา ไม่มีคอนเซ็ปต์เด่นชัด ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมีใครมาซื้อแฟรนไชส์ของคุณ แต่ร้านของคุณมีความแตกต่างอาจเป็นที่ตัวอาหาร รูปแบบการให้บริการ การบรรจุหีบห่อสไตล์การตกแต่งร้าน หรืออะไรที่ผู้คนกล่าวขวัญถึง

เช่น สมมติร้านคุณเป็นร้านข้าวมันไก่ที่ขายดีกว่า 10 ร้านที่อยู่ติดๆ กัน นั่นแสดงว่าคุณต้องมีดีที่เหนือกว่าคู่แข่งขัน คุณจงค้นหามันอะไรคือจุดที่คุณเก่งกว่า เหนือกว่าคู่แข่งขันที่ไม่มีใครมาเทียบได้แล้วหลังทำการโปรโมทอย่างจริงจัง

9. สินค้าและบริการของคุณมีวงจรชีวิตสั้นเกินไปหรือไม่

ตู้ถ่ายสติ๊กเกอร์เครื่องเล่น ทามาก็อตจิ เป็นธุรกิจที่เป็นแฟชั่น ที่มีวงจรยอดฮิตเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้าธุรกิจของคุณมีคุณลักษณะเช่นนี้ คุณจะไม่ประสบความสำเร็จในการทำระบบแฟรนไชส์ เพราะธุรกิจในระบบแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ทำกันมาระยะยาวน สืบทอดถ่ายโอนไปสู่ลูกหลาน ดังนั้น กิจการเพียงช่วงสั้นจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาทำระบบแฟรนไชส์

op6

10. ธุรกิจของคุณสามารถถ่ายทอดสอนผู้อื่นได้หรือไม่

ถ้าธุรกิจของคุณเรียนรู้ได้ยากเกินไป มีขบวนการที่ซับซ้อนเกินไป มีคนเก่งเช่นคุณเท่านั้นจึงจะทำได้ ถ้าลักษณะสินค้าและบริการของคุณเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ควรที่จะนำมาทำระบบแฟรนไชส์ เพราะคุณต้องใช้เวลานานในการสอนกัน และยังต้องการความสามารถเฉพาะบุคคลอีก อย่างนี้ก็ยากในการสร้างระบบแฟรนไชส์

เพราะธุรกิจแฟรนไชส์นั้น จะต้องถ่ายทอดสู่ผู้อื่นได้ โดยใช้เวลาการอบรมไม่นานนัก และมันยากถ้าคุณต้องประกาศหาบุคคลที่มีความสามารถเฉพาะที่มีอย่างจำกัด ความเป็นไปได้ในธุรกิจคุณก็น้อยลงไปด้วย

11. ธุรกิจของคุณต้องใช้พรสวรรค์ใช่หรือไม่

งานศิลปะที่ต้องอาศัยพรสวรรค์เฉพาะบุคคล เป็นลักษณะธุรกิจที่ไม่เหมาะที่จะทำแฟรนไชส์ เช่น การวาดรูป ถ้าคุณพิจารณาดูแล้วว่า ธุรกิจของคุณจำเป็นต้องอาศัยพรสวรรค์พิเศษเฉพาะบุคคล คุณก็ตัดสินใจได้ว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะทำแฟรนไชส์ หรือในบางกรณีกลุ่มของธุรกิจประเภทนี้ อาจจะต้องใช้คนกลุ่มอาชีพเดียวกัน

อย่างแฟรนไชส์การออกแบบและตกแต่ง ก็จะกำหนดคุณสมบัติของคนที่จบสถาปนิกหรืออาชีพเฉพาะทาง แต่ปัญหามีอยู่ว่า คุณจะควบคุมมาตรฐานของงานศิลป์ให้เป็นรูปแบบเดียวกันได้อย่างไร

op7

12. ธุรกิจของคุณนั้นลอกเลียนแบบได้ยาก

มีแฟรนไชส์ขายอาหารเช้าที่เปิดตัวขึ้นมาอย่างฮือฮา แต่ก็ต้องทยอยปิดตัวกันไป เพราะตัวสินค้าลอกเลียนแบบได้ง่าย อีกทั้งการขายอาหารเช้าที่มีลักษณะลอกเลียนแบบได้ง่าย ทำให้ผู้ลงทุนไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องจ่ายเงิน เพื่อซื้อแฟรนไชส์ สามารถฝึกและทดลองด้วยตัวเอง หรือใช้ผู้รู้แนะนำ หรือเรียนระยะสั้นๆ มาก็ทำได้แล้ว

13. สินค้าและบริการของคุณมีการซื้อซ้ำหรือไม่

มีธุรกิจหนึ่งเป็นอาหารเสริมนำมาทำระบบแฟรนไชส์ ซึ่งช่วงแรกที่แฟรนไชซี่ซื้อไปทำได้ดีมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ลงทุนต่ำ ขายเพียง 4-5 ชุดก็คืนทุนได้แล้วในเวลาเพียง 2-3 อาทิตย์เท่านั้น ที่ขายหลังจากนั้นก็คือกำไร ดูเสมือนว่าธุรกิจนี้น่าสนใจ มีจุดดึงดูด ที่ไม่ต้องลงทุนมาก ไม่มีความเสี่ยงเลย

แต่ปรากฏว่าเมื่อทำไปนานๆ จึงจะมีรายได้เข้ามาที เพราะสินค้าที่นำมาขาย เป็นของที่ลูกค้ารู้สึกว่าไม่ใช่ของจำเป็น ไม่ค่อยมีการมาซื้อซ้ำอีก สุดท้ายแฟรนไชส์ซีก็ขาดรายได้ หรือมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ จนต้องหันไปทำอาชีพอื่น

op8

14. ธุรกิจของคุณมีการแข่งขันสูงเกินไปหรือไม่

มีธุรกิจรายใหญ่ของไทย 2-3 ราย ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์พร้อม มีทั้งชื่อ มีสาขาที่เปิดมาแล้วมีประสบการณ์ช่ำชองในธุรกิจเป็นผู้นำตลาด แต่ท้ายที่สุดต้องเปลี่ยนกลับไปใช้ระบบดีลเลอร์อย่างเก่า เพราะมาตายด้วยการเป็นธุรกิจที่อยู่ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด เพราะสินค้าเหล่านั้นในท้องตลาดก็มีขายเช่นเดียวกัน เกิดการลดราคาสะบั้นหั่นแหลก

ในที่สุดร้านแฟรนไชส์ก็ไม่มีจุดได้เปรียบ แต่กลับไปเสียเปรียบ เพราะระเบียบข้อกำหนดต่างๆ ในระบบแฟรนไชส์ เห็นว่าแม้คุณสมบัติที่ครบถ้วนเกือบสมบูรณ์ 100% แต่ปัญหาการแข่งขันสูง ก็ทำให้ระบบแฟรนไชส์ไปไม่รอดอย่างไม่น่าเชื่อ

15. ธุรกิจคุณไม่ลงทุนสูงเกินไป (ไม่เกิน 3 ล้าน)

การลงทุนในธุรกิจของคุณ ไม่ควรสูงเกินไป อย่างกรณีของฟาสท์ฟู้ดในไทยนั้น ปิดตัวลงไปมาก เพราะสาเหตุที่ลงทุนสูงเกินไปจะต้องสร้างยอดขายต่อเดือนมาเท่าไหร่จึงจะคืนทุนได้

การลงทุนที่สูงเกินไป ก็จะทำให้หาแฟรนไชส์ซียาก มีความเสี่ยงและทำให้โอกาสในการขยายตัวได้ยากขึ้นไปด้วย สำหรับตัวเลขการลงทุนที่ระบุว่า ไม่เกิน 3 ล้านนั้น ได้มาจากการลงทุนของแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ในบ้านเราจะอยู่ในระดับนี้

op12

16. ผลกำไรไม่ต่ำเกินไป (มากกว่าสองหมื่นบาทต่อเดือน)

คุณจะสังเกตเห็นว่าแฟรนไชส์ที่ลงทุนต่ำ คือ คีออส รถเข็นต่างๆ จะบูมกันอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ถดถอยเหมือนๆ กันหมดจนกระทั่งบางรายปิดตัวหายจากท้องตลาดไปเลย ทั้งที่บางรายบริษัทแม่เป็นยักษ์ใหญ่

การที่แฟรนไชส์ลงทุนต่ำ โดยมีคนตกงานเข้ามาซื้อแฟรนไชส์ไปทำกันเยอะแยะมากมาย ดูแล้วเหมือนบูมสุดๆ แต่แฟรนไชส์ลงทุนต่ำเหล่านั้น ย่อมทำกำไรต่ำไปด้วยเช่นกัน ผู้ที่ลงทุนซื้อแฟรนไชส์รถเข็นเปิดอยู่ข้างถนน เมื่อทำไประยะหนึ่งก็รู้สึกว่าขาดความก้าวหน้า และไม่เห็นทางที่จะทำให้รวยขึ้นได้ เพราะเงินที่ได้รับไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายประจำเดือน

17. คุณเป็นเจ้าของสิทธิที่ถูกต้องหรือไม่

เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่ออีกเรื่องหนึ่ง ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำแฟรนไชส์มานาน มีระบบการทำตลาดที่แข็งแกร่ง ยังต้องปรับปรุงรูปแบบร้านแฟรนไชส์เข้าสู่วิธีการเดิม ก็คือ ดีลเลอร์ เพราะมีข้อผิดพลาดที่ไม่ใช่เจ้าของสิทธิ์ในยี่ห้อสินค้าที่ขาย

เช่น สินค้าไอที คอมพิวเตอร์ที่ขาย บริษัทไม่ได้เป็นเจ้าของสินค้าเอง ช่วงแรกๆ ที่ทำนั้น บริษัทแม่ได้สิทธิในการขายสินค้ายี่ห้อดังเพียงรายเดียว แต่ต่อมาภายหลังทุกคนสามารถขายยี่ห้อเดียวกันได้อย่างไม่จำกัด

ร้านแผงลอยร้านทั่วไปกลับมีสินค้าให้ลูกค้าเลือกได้อย่างหลากหลายยี่ห้อ และยังมีการต่อรองราคาได้อย่างสนุกสนาน ทำให้ร้านที่อยู่ในระบบแฟรนไชส์ ต้องการที่จะมีอิสระในการทำเช่นนั้นบ้าง เพื่อความอยู่รอดต่อการแข่งขันที่ร้อนแรง ในที่สุดร้านแฟรนไชส์ดังของบริษัทยักษ์ใหญ่ต้องกลับมาใช้ระบบดีลเลอร์อย่างเก่า

op13

18. คุณเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถหรือไม่

ถ้าคุณขายแฟรนไชส์ออกไปนั้น คุณจะต้องมีทักษะในการบริหารงานในระบบใหญ่ และมันจะยากยิ่งขึ้น เมื่อคุณต้องบริหารแฟรนไชส์ซีที่ไม่ใช่ลูกจ้างของคุณ ที่มีลักษณะที่หลากหลายรูปแบบ

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณจะต้องเป็นผู้บริหารที่มีความแข็งแกร่ง แต่ถ้าคุณทราบว่าคุณอ่อนในเรื่องใด ขอแนะนำให้คุณหาที่ปรึกษา หรือจ้างคนที่เก่งในเรื่องนั้นๆ มาช่วยเสริมสร้างให้มีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น หรือมีทีมงานบริษัทที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น

อีกกรณีหนึ่งลักษณะนิสัยส่วนตัว คุณรู้ไหมว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้น มีแฟรนไชส์หลายรายที่กำลังจะไปได้ดี แฟรนไชว์ซีสามารถดำเนินธุรกิจมีกำไรน่าพอใจ แต่ผู้บริหารมีนิสัยการใช้เงินที่ฟุ่มเฟือย จนกระทั่งหมดเงินจ่ายให้กับซัพพลายเออร์ ในที่สุดร้านของแฟรนไชส์ซีก็ไม่ได้สินค้าเข้ามาขายในร้าน ทำให้แฟรนไชส์เหล่านั้นล้มเหลวลงไปอย่างน่าเสียดายมาก

ใครที่อยากประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ก็ลองกลับไปสำรวจตัวเอง รวมถึงกิจการที่กำลังอยู่ ว่ามีองค์ประกอบตามทุกข้อที่กล่าวไปข้างต้นหรือไม่ ถ้ามีก็เตรียมตัวสร้างธุรกิจให้เป็นแฟรนไชส้ได้เลย

อ่านบทความอื่นๆ เกี่ยวกับแฟรนไชส์ คลิก goo.gl/2P3sGf
หรือสนใจลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ คลิก goo.gl/B9VLrJ

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3nSbXao

01565898888

ท่านใดสนใจอยากให้สร้างระบบแฟรนไชส์ แจ้งความประสงค์ได้ที่
โทร : 02-1019187, Line : @thaifranchise

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช