กลับมาใหม่ ไฉไลกว่าเดิม! Beard Papa’s “ เบียร์ด ปาปาส์ ” แฟรนไชส์คุณภาพจากญี่ปุ่น

ต้องยอมรับว่าตลาดเบเกอรี่ในเมืองไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะความสะดวกสบายในการรับประทาน มีการขยายสาขาอย่างแพร่หลาย และการเข้ามาในธุรกิจของผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งแบบแฟรนไชส์และเปิดร้านเอง โดยพฤติกรรมผู้บริโภคที่มองว่า การรับประทานเบเกอรี่เป็นส่วนหนึ่งในการโชว์ บนโลกออนไลน์ถึงความชิคในไลฟ์สไตล์ของตัวเอง

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ขอพาคุณผู้อ่านไปเจาะลึก และสำรวจร้านเบเกอรี่ Beard Papa’s แฟรนไชส์คุณภาพสัญชาติญี่ปุ่น หลังจากที่กลับมาเปิดสาขาในเมืองไทยอีกครั้ง ด้วยการให้สิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์แก่ บริษัท ซันปาร์ค แบงค็อก จำกัด ในการดำเนินธุรกิจและขยายสาขาในประเทศไทย ไปเดินเลาะร้านพร้อมๆ กันเลยครับ

เบียร์ด ปาปาส์

หลังจากเมื่อช่วงปลายปี 2557 บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG ได้ประกาศปิดกิจการร้านขนมครีมพัฟ Beard Papa’s เนื่องจากเหตุโมเดลร้าน และราคาไม่รับพฤติกรรมตลาด ทำให้ไม่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค แต่ก็เชื่อว่าตอนนั้น ได้ทำเอาแฟนพันธุ์แท้ขนมเบเกอรี่ญี่ปุ่น Beard Papa’s ร้องไห้ไปตามๆ กัน

วันนี้ร้านเบเกอรี่สัญชาติญี่ปุ่น “ เบียร์ด ปาปาส์ ” (Beard Papa’s) ของ Muginoho ที่มีขนมครีมพัฟหรือชูครีม แป้งพายก้อนกลมขนาดยักษ์ สอดไส้ครีมเป็นสินค้าหลัก ได้กลับมาบุกตลาดเมืองไทยอีกครั้ง

โดยผู้ที่นำเข้ามา คือ คุณสุทธิรัตน์ ลีสวัสดิ์ตระกูล ทายาทเจ้าของ บริษัท ซันปาร์ค แบงค็อก จำกัด บริษัทในเครือ Sunpark Co., Ltd. ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งดำเนินกิจการมายาวนานถึง 50 ปี โดยประกอบกิจการร้านอาหารและภัตตาคารเป็นหลัก มากกว่า 60 สาขา ทั้งในประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อเมริกา และประเทศไทย

pppr5

ร้าน Beard Papa’s ได้กำหนดธุรกิจของตัวเองให้เป็นแฟรนไชส์ เพราะสร้างการเติบโตและขยายสาขาในต่างประเทศได้ง่าย โดยในไทยได้แต่งตั้ง บริษัท ซันปาร์ค แบงค็อก จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิ์เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ของ Beard Papa’s ในประเทศไทย จากเดิมที่ “เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป” หรือ CRG ของกลุ่มเซ็นทรัล ได้รับสิทธิ์ขยายสาขาก่อนหน้านี้

ร้าน Beard Papa’s แห่งแรกได้เปิดตัวเมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2542 โดย Yuji Hirota ภายใต้สโลแกน Pipin ‘Hot Cream Puffs นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง Beard Papa’s ได้เติบโตอย่างมาก มีการขยายสาขาไปนอกประเทศญี่ปุ่น
อาทิ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย สหราชอาณาจักร รวมถึงสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน Beard Papa’s มีร้านค้ามากกว่า 180 แห่งในญี่ปุ่น และ 187 แห่งทั่วโลก

ขณะที่ไทย Beard Papa’s มีจำนวนสาขา 5 แห่ง สาขาแรกที่กลับมาเปิดอีกครั้ง คือ เดอะมอลล์บางกะปิ ชั้น G, ดิเอ็มโพเรี่ยมชั้น 4, Terminal 21, สยามพารากอน ชั้น G และสนามบินดอนเมือง อาคาร 2 ชั้น 3 และเตรียมเปิดเพิ่มอีกเร็วๆ นี้
Beard Papa’s มีเอกลักษณ์ คือ ความสดของครีมและแป้งพัฟ ที่อบอร่อยไม่เหมือนใคร ซึ่งเนื้อครีมคัสตาร์ดนั้นมีให้เลือกมากมาย ได้แก่ วานิลลา, ช็อกโกแลต, ชาเขียว และอาจมีไส้พิเศษเป็นโปรโมชั่นตามฤดูกาล

pppr1

สำหรับ “ซันปาร์ค แบงค็อก” มาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทย ถือเป็นบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่จดทะเบียนบริษัทตั้งแต่ 1 มีนาคม 2556 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 6 ล้านบาท ถือหุ้นโดยบริษัท อีจิส แคปิตอล จำกัด สัญชาติไทย 51%, ซันปาร์ค โฮลดิ้ง พีทีอี ลิมิเต็ด สัญชาติสิงคโปร์ 48.67%

โดยปรากฏชื่อ “นายเคน ทาคากิ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซันปาร์ค ประเทศญี่ปุ่น (Sunpark Co., Ltd.) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารทั้งในประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และประเทศไทย เป็นหนึ่งในกรรมการของซันปาร์ค แบงค็อกด้วย
สำหรับจุดเด่นของ Beard Papa’s คือ การทำสดให้ลูกค้าได้เห็นทุกขั้นตอน ดังนั้น ร้านที่เปิดให้บริการจะเหมือนเป็นการยกครัวมาวางไว้หน้าร้าน ความสดที่เกิดจากอบใหม่ แป้งที่กรอบ และไส้ที่หอมและเย็น

pppr2

ช่วยเสริมให้รสชาติของเอแคร์ (ที่คนไทยรู้จัก) เย็นเป็นที่ถูกใจลูกค้า และเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้บริโภคคนไทยได้ไม่ยาก แม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจขนมในกลุ่มเบเกอรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ จะมีอยู่หลายรายในศูนย์การค้าชั้นนำ

อย่างไรก็ตาม หากมาดูแนวโน้มของธุรกิจอาหารเบเกอรี่ก็ยังเติบโตได้อีกมาก โดยปัจจุบันตลาดร้านกาแฟ เบเกอรี่ ไอศกรีมในเมืองไทย มีแบรนด์ชั้นนำอยู่ประมาณ 3,710 สาขา โดยมูลค่าตลาดของทั้ง 3 อยู่ที่ประมาณ 62,000 ล้านบาท โดยในกลุ่มกาแฟมีมูลค่ามากที่สุดที่ 30,000 ล้านบาท รองลงมา เบเกอรี่ 17,000 ล้านบาท และไอศกรีม 15,000 ล้านบาท

ปัจจุบัน Muginoho ผู้บริหารเชนร้านอาหารญี่ปุ่นหลายแบรนด์ รวมถึง Beard Papa’s นอกประเทศญี่ปุ่น กำลังอยู่ระหว่างเจรจาขายแฟรนไชส์ Beard Papa’s ในหลายประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินเดีย และตะวันออกกลาง

pppr3

รวมถึงเตรียมขยายสาขาในประเทศที่เข้าทำตลาดอยู่แล้ว เช่น ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย หลังจากหลายสาขาสามารถทำยอดขายดีกว่าที่คาด โดยเฉพาะสาขาในสนามบิน ทั้งสนามบินดอนเมืองของไทย และสาขาสนามบินโซอิคาร์โน-ฮัตตา ของอินโดนีเซีย ซึ่งมียอดขายเฉลี่ยถึง 90,400 เหรียญสหรัฐต่อเดือน แม้จะเป็นร้านขนาดเล็กเพียง 16 ตร.ม.เท่านั้น

การกลับมาอีกครั้งของ Beard Papa’s ได้เดินเกมกลยุทธ์ชูคุณภาพสินค้า พร้อมกับเปิดตัวสินค้าใหม่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค และรักษากระแสการรับรู้ จึงช่วยให้สามารถสร้างยอดขายได้อย่างสม่ำเสมอ แม้ว่า Beard Papa’s จะเพิ่งพ้นช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจในตลาดโลก โดยทั้งรุกและถอนตัวออกจากหลายประเทศ

นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นประสิทธิภาพเป็นหลัก ใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน เพื่อคุมค่าใช้จ่ายในโรงงาน พร้อมพัฒนากระบวนการเตรียมสินค้าหน้าร้านให้ง่ายที่สุด โดยปัจจุบันพนักงานใหม่สามารถฝึกจนชำนาญภายในเวลาแค่ 1 สัปดาห์ ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการขยายสาขาต่างประเทศ ที่มีอุปสรรคทางภาษา

ต้องติดตามดูว่า Beard Papa’s ภาคใหม่ภายใต้การดูแลของ “ซันปาร์ค แบงค็อก” จะไฉไลกว่าเดิมหรือไม่ เพราะแม้แต่ CRC ที่มีความเชี่ยวชาญบริหารแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ ก็ยังต้องทิ้ง Beard Papa’s กลางคัน

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/home.php
สนใจซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php

ขอบคุณรูปภาพจาก goo.gl/4vDzLY

อ้างอิงจาก https://bit.ly/39VU3Qu

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช