เจาะลึก! ร้านสะดวกซื้อ CJ Express ปักธงรบสมรภูมิค้าปลีกภูธร

ถ้าบอกว่าร้านสะดวกซื้อที่กำลังมาแรงในโซนภาคตะวันตก กลาง ตะวันออก และใต้ตอนบน คือ CJ Express “ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส” เชื่อว่าผู้อ่านหลายๆ คนคงจะไม่เชื่อแน่นอน และหลายคนอาจยังไม่รู้จักด้วยซ้ำ

แต่คุณผู้อ่านรู้หรือไม่ว่า CJ Express มีเจ้าของคนเดียวกันกับเครื่องดื่ม “คาราบาวแดง” ซึ่งในตอนนี้กำลังมาแรงในโซนรอบนอก เป็นคู่แข่งสำคัญและต่อกรกับร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven, Mini Big C และ Tesco Lotus Express ได้อย่างสูสี

แล้วคุณผู้อ่านอยากรู้ไหมว่า CJ Express มีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นเจ้าของ วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะเล่าให้ฟังแบบเจาะลึก ถึงกลยุทธ์ร้านสะดวกซื้อ ที่ผู้บริหารได้วางตำแหน่งให้เป็น Supermarket Convenience Store

CJ Express มาจากไหน ?

CJ Express

ภาพจาก  https://goo.gl/q1Q4nv

CJ Express เป็นร้านสะดวกซื้อ เริ่มแรกจะปักหลักสร้างฐานอยู่แถบภาคกลางและตะวันตก จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคในราคาประหยัดภายใต้การบริหารงานของ บริษัท พี.เอส.ดี รักษ์ไทย จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดราชบุรี อยู่ภายใต้การบริหารของ “วิทย์ ศศลักษณานนท์” โดยได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม ปี 2548

ต่อมาได้มาเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ซี.เจ.เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 หลังจาก “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ประธานกรรมการบริหารเครื่องดื่ม “คาราบาวแดง” และพันธมิตร เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่กว่า 80%

92

ภาพจาก https://goo.gl/kVSZ4E

เชื่อว่าคุณผู้อ่านหลายคน พอได้เห็นชื่อของ “เสถียร” ก็คงจะต้องนึกถึงเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” ธุรกิจที่เขาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่เช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจ หากเราจะเห็นคาราบาวแดงวางอยู่ในตู้แช่ทุกสาขาของ CJ Express และที่สำคัญทุกครั้งที่        CJ Express เปิดสาขาใหม่ ก็จะเห็น “เสถียร” และ “แอ๊ด คาราบาว” แพ็กคู่กันไปจัดกิจกรรมการตลาดเสมอ

ปัจจุบัน CJ Express มีจำนวนสาขามากกว่า 250 สาขา กระจายอยู่ใน 22 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร อ่างทอง สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ลพบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท

ปักธงรบ…ป่าล้อมเมือง

93

ภาพจาก https://goo.gl/g6BgcZ

CJ Express มีจุดกำเนิดและมีความแข็งแกร่งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี สมุทรสาคร มีความชำนาญในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ จึงไม่คิดที่จะต่อกรกับร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่โดยตรง กลยุทธ์ของ CJ Express ที่กำลังใช้อยู่ก็คือ “ป่าล้อมเมือง”

เดินเกมรบยึดพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดรอบๆ นอก ทั้งภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และใต้ตอนบน ที่เป็นแหล่งชุมชน ย่านโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งคนพลุกพล่านพักอาศัย บางพื้นที่ก็เผชิญหน้ากับคู่แข่งโดยตรง

สำหรับนโยบายการลงทุนใหม่ของร้านสะดวกซื้อ CJ Express จะโฟกัสไปที่ภาคตะวันออก ภาคกลาง เน้นเจาะโซนนิคมอุตสาหกรรม ที่มีแรงงานจำนวนมาก เพราะถือว่าเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ที่จะสามารถทดแทนกำลังซื้อจากชาวนา และเกษตรกร ซึ่งขณะนี้กำลังประสบปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ส่วนการลงทุนในภาคตะวันตกก็เริ่มอิ่มตัวแล้ว

94

ภาพจาก https://goo.gl/GQaP4o

นอกจากนั้น จะเริ่มบุกโซนรอบนอกกรุงเทพฯ เริ่มขยายสาขาไปหลายทำเลมากขึ้น เช่น ย่านฝั่งธนบุรีกว่า 20 สาขา ย่านนนทบุรีกว่า10 สาขา นอกจากนี้ยังขยายไปยังย่านปทุมธานี รังสิต สมุทรปราการ พระประแดง บางกระดี่ และพระรามสอง

ล่าสุด CJ Express ได้เปิดสาขาใหม่บริเวณวัดลาดปลาดุก อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ถือว่ายอดขายดีมาก เป็นทำเลที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น แต่การแข่งขันสูง

เพราะส่วนใหญ่ CJ Express จะตั้งอยู่ใกล้กับ 7-Eleven, Mini Big C และ Lotus Express ส่วนภาคอีสานหลังจากที่ได้เปิดสาขาที่จังหวัดนครราชสีมาแล้ว CJ Express ก็ยังไม่มีแผนเข้าไปลงทุนจังหวัดอื่นๆ เพราะต้นทุนโลจิสติกส์สูง

โดยทำเลที่ตั้งส่วนใหญ่ของ CJ Express จะเป็นทำเลรองหรือถนนรอง เพื่อรับกับการเติบโต และตอบความต้องการของตลาด และพื้นที่เป้าหมายในการขยายสาขา ยังคงมุ่งในชุมชน ต่างจังหวัดก็ยังมุ่งในชุมชนที่มีกำลังซื้อเป็นหลัก

แต่งตัวขยายสาขาแบบ…แฟรนไชส์

91

ภาพจาก https://goo.gl/Ym3yMh

สำหรับแผนการลงทุนของ CJ Express มีแผนลงทุนในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ ประมาณ 4,000 ล้านบาท เพื่อขยายและปรับปรุงสาขาที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 250 สาขา (1 สาขาใช้เงินลงทุน 10 ล้านบาท)

ตั้งเป้าจะมีสาขาให้ครบ 600 สาขาภายในปี 2563 และในอนาคต CJ Express มีแผนที่จะขยายสาขาโดยใช้โมเดลแฟรนไชส์ เพื่อเร่งสปีดจำนวนสาขาให้เร็วขึ้น รวมทั้งมีแผนจะขยายสาขาไปในประเทศกลุ่ม AEC อีกด้วย

แต่สำหรับในเรื่องของแฟรนไชส์ บริษัทจะไม่เร่งรีบ จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และทางคุณเสถียรผู้บริหาร CJ ก็ออกมายอมรับว่า CJ Express คงไม่สามารถทำแบบ 7-Eleven ได้ ไม่เหมือนในญี่ปุ่นที่ร้านสะดวกซื้อต่างๆ สู้กันได้อย่างสูสี

แต่ถ้า CJ Express จะไปแข่ง ก็คงต้องไปต่อคิวอีกหลายๆ ค่าย โดยเฉพาะ Mini Big C และ Lotus Express ดังนั้น CJ Express จะต้องหาช่องทางที่จะไปด้วยตัวเอง โดยใช้จุดแข็งพื้นที่ภูธร ไม่แข่งขัน 100% กับใคร ค่อยๆ รุกเข้าใจกลางเมือง

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายใน CJ Express จะเป็นสินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์และครัวเรือนเป็นหลัก เจาะกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่ง 7-Eleven ที่เน้นจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จ พร้อมรับประทานและสินค้าไซน์เล็ก

อีกทั้งล่าสุดบริษัทฯ ได้ผู้บริหารใหม่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาร่วมงานในระดับสูงชื่อ “มิสเตอร์ร็อบ” ซึ่งอดีตเคยบริหารงานค้าปลีกรายใหญ่อย่าง “บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์” มาก่อนซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านค้าปลีกอย่างดี

ความแข็งแกร่งของ CJ Express ในภาคกลาง ทำให้ช่วยส่งเสริมยอดขายของเครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดงไปด้วย ซึ่งทางบริษัท ก็มีแผนที่จะขยายสาขาเข้าไปยังภาคอีสาน ที่มีสัดส่วน 30% ของมูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังทั้งหมด

รายได้ของ บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด

  • ปี 2559 รายได้ 7,886,928,232 บาท กำไร 165,262,947 บาท
  • ปี 2558 รายได้ 7,106,146,645 บาท กำไร 37,676,689 บาท
  • ปี 2557 รายได้ 6,858,827,820 บาท กำไร 25,850,150 บาท
  • ปี 2556 รายได้ 2,858,622,781 บาท กำไร 60,672,231 บาท

เมื่อดูจากรายได้และผลกำไรของ CJ Express ทำให้รู้เลยว่า ร้านสะดวกซื้อรายนี้ ไม่ธรรมดา ที่ใครๆ จะดูแคลน และมองข้ามไปได้ โดยเฉพาะเรื่องของการตลาดที่ยอดเยี่ยม ภายใต้สโลแกน “ครบ พบทุกสิ่ง ถูกจริง ถูกทุกวัน” พร้อมทั้งมีการจัดโปรโมชั่นหมุนเวียนทุกๆ 2 สัปดาห์ และมีแคมเปญกระตุ้นการจับจ่ายเป็นระยะๆ

ล่าสุดกลางเดือนกุมภาพันธ์ CJ Express ก็ได้ปล่อยโฆษณาตัวใหม่ออกมา เรียกว่าสร้างสีสันได้มากทีเดียว บริษัทคาดว่าในปี 2563 จะมีรายได้รวมประมาณ 20,000 ล้านบาท หลังจากปี 2560 มีรายได้ 10,000 ล้านบาท

96

ภาพจาก https://goo.gl/YgSNm8

ความน่าสนใจอีกอย่างของ CJ Express คือ ทุกครั้งที่เปิดสาขาใหม่ในแต่ละพื้นที่ ก็จะมี “แอ๊ด คาราบาว” เดินทางร่วมจัดกิจกรรมแจกโชคต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ทุกครั้ง เปรียบเสมือนเป็น Brand Ambassador ของ CJ Express

นอกจาก CJ Express จะเน้นจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคในราคาประหยัดแล้ว ร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ ยังรับชำระเงินด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ทุกสาขาอีกด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเปิดโอกาสให้ร้านสะดวกซื้อสามารถทำหน้าที่ Banking Agent หรือทำธุรกรรมทางการเงินเช่น ฝาก ถอน โอนเงิน ได้แบบธนาคารพาณิชย์ ก็ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นเช่นกัน

เรื่องราวของ CJ Express ได้สอนให้รู้ว่า เราไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันกับใคร เดินเกมตามเส้นทางที่ตนเองถนัดและชำนาญ เพราะจะทำให้เราทำได้ดีและประสบความสำเร็จ ที่สำคัญต้องรู้ว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราเป็นใคร ต้องการอะไร ซึ่งต่อจากนี้ สมรภูมิค้าปลีก มีความน่าสนใจมาก ทำให้ร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ไม่อาจกระพริบตาได้เลยทีเดียวครับ


อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://bit.ly/34PPIIb

สนใจซื้อแฟรนไชส์ค้าปลีก https://bit.ly/39cka2P

ดูข้อมูลแฟรนไชส์ CJ Express https://bit.ly/2SsdzeF

แหล่งข้อมูล

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2PQFXFg

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช