มวยถูกคู่ บิ๊กซี Vs เทสโก้ โลตัส

ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ในยุคนี้ ต้องนอมรับว่าเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่ “บิ๊กซี” และ ” เทสโก้ โลตัส ” ซึ่งต่างงัดสารพัดแคมเปญออกมาเกทับบลัฟแหลกแบบไม่มีใครยอมใคร รวมถึงการเปิดตัวค้าปลีกโมเดลใหม่ และบริการใหม่ ๆ ออกมาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็มักใจตรงกันบ่อยครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นร้าน “เอ็กซ์ตร้า” ซึ่งบิ๊กซีชิงเปิดตัวตัดหน้าโลตัสที่อยู่ระหว่างปรับปรุงร้านในฝั่งตรงข้าม ในสาขาพระราม 4 หรือ “ออนไลน์ ช็อปปิ้ง” อีกโมเดลที่เทสโก้มีแผนที่จะเปิดตัว หลังเห็นความสำเร็จของบริษัทแม่ที่อังกฤษ และเกาหลี แต่ก็ยังช้ากว่า “บิ๊กซี” ซึ่งชิงตัดหน้าเปิดตัวออนไลน์ ช็อปปิ้ง บนแพลตฟอร์มต่างๆ

แต่หากย้อนกลับไป เราก็จะพบว่าเกมการแข่งขันและต่อสู้กันสะบั้นหั่นแหลกที่ถือเรื่องใหญ่ ถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาลที่ดูท่าจะเป็นหนังม้วนยาว กรณีคำตัดสินของศาลแพ่งเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 ให้เทสโก้ โลตัส ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่บิ๊กซีเกือบ 4 ล้านบาท จากคดีที่บิ๊กซียื่นฟ้องโลตัส กรณีนำสัญลักษณ์ เครื่องมือ และกลไกทางการตลาดของบิ๊กซีและคาร์ฟูร์ ไปใช้จัดทำโฆษณาและแคมเปญส่งเสริมการขายโดยมิชอบเพื่อสร้างรายได้และฐานลูกค้า

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณผู้อ่านไปดูกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ของมวยถูกคู่ แห่งวงการค้าปลีกสมัยใหม่ของไทย ระหว่าง บิ๊กซี และ เทศโก้ โลตัส จะถึงพริกถึงขิงมากแค่ไหน เชิญดูพร้อมๆ กันเลยครับ

กลยุทธ์ธุรกิจบิ๊กซี

เทสโก้ โลตัส

ภาพจาก goo.gl/BSmpMZ , goo.gl/JeKZqO , goo.gl/ZH9svn

“บิ๊กซี” ถือเป็นแบรนด์ค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่คุ้นเคยกับคนไทยมาเป็นระยะเวลา 24 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นของการเข้ามาก็เมื่อปี 2536 โดยมีกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ต่อมาในปี 2537 ทำการเปิดสาขาแรกบนถนนแจ้งวัฒนะ หากใครจำได้ช่วงนั้นบริเวณแจ้งวัฒนะและใกล้เคียง มีการขยายตัวของโมเดิร์นเทรดจำนวนมาก

ทั้งบิ๊กซี โลตัส บิ๊กคิงส์ในตอนนั้น มีของที่จำหน่ายในเซ็นทรัลเข้าไปจำหน่ายในบิ๊กซีด้วย แต่ต่อมาจนกระทั่งถึงปี 2540 ซึ่งเกิดวิกฤติขึ้นกับหลายผู้ประกอบการในไทย ส่งผลให้บริษัท Casino Guichard-Perrachon ผู้ประกอบการค้าปลีกจากฝรั่งเศส ได้เข้ามาเพิ่มทุนและก็กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน พ.ศ.2542

rt5

ภาพจาก goo.gl/5AhgMS

หลังจากนั้นจุดเปลี่ยนของบิ๊กซีก็เกิดขึ้นอีกครั้ง จากการที่บริษัท Casino Guichard-Perrachon ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กับ บริษัท ทีซีซี กรุ๊ป จำกัด ของ “นายเจริญ สิริวัฒนภักดี” หรือคนไทยมักเรียกกันว่าเสี่ยเจริญเจ้าของเบียร์ช้าง

หนึ่งในเศรษฐีลำดับต้นๆ ของเมืองไทย ผู้มีศักยภาพทางการเงินมากเพียงพอจะซื้อหุ้นของบิ๊กซีในครั้งนี้ เบียดกลุ่มเซ็นทรัลที่อาจมีกำลังเงินมากไม่แตกต่างกันนัก แต่กระนั้นเสี่ยเจริญจะไม่ยอมพลาดเหมือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อคาร์ฟูร์และแมคโคร ตั้งใจไว้ว่าดีลนี้ยังไงก็ต้องสำเร็จ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของบิ๊กซี มาจากการเข้าซื้อกิจการจากคาสิโน กรุ๊ป มาเป็น ทีซีซี คอร์เปอเรชั่น ในเครือ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ซึ่งมีอาณาจักรธุรกิจคลุมอยู่ทั้งการผลิตสินค้าอุปโภค อาหาร เครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ รวมถึงค้าปลีกอาทิ พันธ์ทิพย์ พลาซ่า ศูนย์การค้าเกตเวย์เอกมัย ดิจิทัลเกตเวย์ เอเชียทีค ฯลฯ ค้าส่ง เอ็ม เอ็ม เมก้า จ.หนองคาย

จากฐานธุรกิจที่กว้างขวางทำให้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนบิ๊กซี ถูกวางให้มุ่งไปในเชิงการซินเนอร์ยี่ (Synergy) ทั้งในแง่ของการเป็นช่องทางการจำหน่ายหลักของสินค้าในเครือ ซึ่งจะทำให้เปรียบในแง่ของต้นทุนการวางจำหน่าย รวมถึงการนำบิ๊กซี เข้าไปอยู่ในพื้นที่ค้าปลีกอื่นๆ อาทิ การเข้าไปเปิดสาขาในพันธ์ทิพย์ เชียงใหม่

rt6

ภาพจาก goo.gl/5Eht5H

ในส่วนของบริษัทในเครืออย่างบีเจซี อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายเฉพาะในบิ๊กซี เริ่มจากการสั่งผลิตกระดาษชำระ “บิ๊กซี” รวมถึงการทดลองจำหน่ายไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟบางสาขาในมินิบิ๊กซีและวางแผนนำแคทิกอรี่อื่นๆ ทยอยตามมา อาทิ น้ำยาล้างจานโยเกิร์ต เพื่อสร้างความได้เปรียบตามนโยบายการลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

จากกลยุทธ์ผนึกกำลังบิ๊กซี จึงเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าของธุรกิจในเครือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนการกระจายสินค้าได้ดี ส่วนผู้บริโภคจะมีผลพลอยได้ในแง่ของการซื้อสินค้าราคาต่ำลงหรือไม่นั้นยังไม่ชัดเจน

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของบิ๊กซี ในปี 2560 มีแผนที่จะใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อการลงทุนเปิดห้างบิ๊กซีฯ สาขาใหม่ โดยในส่วนของฟอร์แมต ที่จะเน้นการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษในปี 2560 ยังคงเป็นในส่วนของร้านมินิบิ๊กซี เจาะเข้าถึงกลุ่มชุมชนต่างๆ เนื่องจากใช้พื้นที่ไม่มากเมื่อเทียบกับประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยปี 2560 มีแผนขยายสาขาใหญ่ 9-10 สาขา สาขากลางไม่ถึง 10 สาขาและเล็ก 200-400 สาขา

กลยุทธ์ธุรกิจเทสโก้ โลตัส

rt7

ภาพจาก goo.gl/F1lFtR

บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (Ek-Chai Distribution System Co., Ltd.) เริ่มก่อตั้งขึ้นโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อปี พ.ศ.2537 เพื่อดำเนินธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) โดยใช้ชื่อว่า “ห้างโลตัส” (Lotus Supercenter) เปิดให้บริการสาขาแรกที่ศูนย์การค้าซีคอนแสควร์ บนถนนศรีนครินทร์

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2541-2543 เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในภูมิภาคเอเชีย จนกลายเป็นวิกฤติทางเศรษฐกิจในประเทศไทยส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ทำให้ร้านค้าปลีกในประเทศไทยประสบปัญหาทางการเงิน และมียอดขายลดลงประมาณร้อยละ 20 ถึง 30

จากสถานการณ์ดังกล่าวในปี พ.ศ. 2541 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเทสโก้จากสหราชอาณาจักร อันนำไปสู่การสร้างธุรกิจค้าปลีกรูปแบบใหม่ภายหลังการเผชิญวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ จากจุดเริ่มต้นนี้เองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จนกลายเป็น “เทสโก้ โลตัส” จวบจนปัจจุบัน

rt8

ภาพจาก goo.gl/zXq5AU

ปีพ.ศ. 2554 เทสโก้ โลตัส เปิดตัวสาขารูปแบบใหม่ “เอ็กซ์ตร้า” บนถนนพระราม 4 ในเดือนกรกฎาคม เป็นแห่งแรกในประเทศไทยและในเอเชีย ด้วยเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท สิ่งที่บ่งบอกความเป็น เอ็กซ์ตร้า ได้ชัดเจนคือ การเพิ่มร้านค้า เพิ่มสินค้าใหม่ และยกระดับการบริการ ทั้งหมดนี้ในราคาเทสโก้ โลตัส

โดยได้ทำการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าอย่างละเอียดลึกซึ้ง แล้วนำมาพัฒนาให้เป็นสาขารูปแบบใหม่ ซึ่งจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเก่า พร้อมทั้งเชิญชวนลูกค้าใหม่ได้ในเวลาเดียวกัน

ปีพ.ศ. 2556 เปิดตัวบริการ “เทสโก้ โลตัส ช็อป ออนไลน์” เพื่อตอบรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ด้วยบริการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์พร้อมบริการส่งสินค้าถึงบ้านตามเวลาที่ลูกค้าต้องการ

เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ www.tescolotus.com เมนู ช็อปออนไลน์ เพื่อลงทะเบียน โดยมีสินค้ามากกว่า 20,000 รายการ ซึ่งครอบคลุมทั้งสินค้าทั่วไปและสินค้าประเภทอาหารซึ่งรวมทั้งอาหารแห้ง อาหารสด อาหารแช่เย็น และอาหารแช่แข็ง

ที่ผ่านมากลยุทธ์การเพิ่มสาขาของเทสโก้ โลตัส ถือเป็นไฟล์บังคับในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามทิศทางการขยายตัวของเมืองและชุมชน แต่ด้วยการรุกเข้าของมินิซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อซึ่งแทรกตัวเข้าสู่ชุมชน

ทำให้การซื้อสินค้านั้นง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องเดินทางและสามารถซื้อสินค้าน้อยชิ้นเท่าที่จำเป็นได้และซื้อได้บ่อย รวมถึงช่องทางอี-คอมเมิร์ซที่กำลังได้รับการตอบรับมากขึ้นทุกขณะ ปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการลดความถี่ในการเข้าไปซื้อสินค้าในไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเทสโก้ โลตัส เองมองเห็นและตั้งการ์ดรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้มาตามลำดับ

เช่น การปรับแนวคิดด้านการบริหารจัดการพื้นที่ขายใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะวางตำแหน่งธุรกิจให้สะท้อนการเป็นไลฟ์สไตล์ มอลล์ มากขึ้น ผ่านการสร้างสมดุลระหว่างบริการด้านไลฟ์สไตล์ อาทิ ร้านอาหาร สินค้าแฟชั่น โรงภาพยนตร์ ฯลฯ กับพื้นที่ไฮเปอร์มาร์เก็ต เพื่อให้เทสโก้ โลตัส เป็นมากกว่าไฮเปอร์มาร์เก็ต

rt9

ภาพจาก goo.gl/xDV3kX

การสร้างความแตกต่างของเทสโก้ โลตัส ครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะเพิ่มแรงดึงดูดในการเข้ามาใช้บริการ ทำให้ลูกค้าใช้เวลาในพื้นที่มากขึ้น ที่สำคัญเป็นโอกาสในการสร้างรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ซึ่งถือเป็นหนึ่งในรายได้ที่สำคัญที่มีความแน่นอน ใช้เงินทุนลงทุนน้อยกว่า แต่ได้กำไรมากกว่ารายได้จากการซื้อมา-ขายไป

อีกด้านหนึ่งคือเทสโก้ โลตัส ได้พยายามสร้างจุดขายที่สำคัญกับการขับเคลื่อนธุรกิจในมิติของการเป็นส่วนหนึ่งสังคมเกษตรของไทยอย่างจริงจัง ภายใต้แนวคิดสร้างความยั่งยืนทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเกษตรกรและแบรนด์เทสโก้ โลตัส

ด้วยศักยภาพและโอกาสธุรกิจของไทย เทสโก้ โลตัส ผู้บริหารเทสโก้ โลตัสเชื่อว่าจะยังสามารถขยายสาขาในระดับไม่ต่ำกว่า 100 สาขาต่อปี ต่อเนื่อง 3-5 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ เทสโก้ โลตัส เปิดสาขาใหม่เฉลี่ย 100 แห่งต่อปี ภายใต้งบลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้นช่วง 3-5 ปี จะมีสาขาเปิดใหม่ของเทสโก้ โลตัส 300-500 สาขาทั่วประเทศ

ปัจจุบันเทสโก้ โลตัส มีเครือข่ายสาขากว่า 1,947 แห่ง ใน 73 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้าสิ้นปี 2560 มีจำนวนสาขา 2,000 แห่ง การขยายสาขาส่วนใหญ่เน้นในเขตภาคกลางและอีสาน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงจากการขยายโครงการคมนาคมของภาครัฐ เน้นเตรียมเปิดร้านค้าปลีกขนาดใหญ่รูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต 11 แห่ง และอีก 90 สาขา เป็นร้านค้าปลีกขนาดกลางและเล็ก เน้นรูปแบบ ตลาดโลตัส และเอ็กซ์เพรส นอกจากนี้มีแผนปรับปรุง 18 สาขาเก่า

ในอดีตที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่าหัวใจการอยู่รอดของไฮเปอร์มาร์เก็ตอยู่ที่ ”ราคาต่ำ” ซึ่งเคยใช้มัดใจผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามสภาพสังคมและเทคโนโลยี ประกอบกับบริบทของตลาดค้าปลีกที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ

ดังนั้น การตอบโจทย์ของไฮเปอร์มาร์เก็ต ณ ขณะนี้จึงต้องมากกว่า “ราคา” แต่มองไกลทะลุให้ถึงไลฟ์สไตล์ ความสะดวกสบาย รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์เหล่านี้ นับว่าเป็นปัจจัยที่ทั้งเทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี กำลังวางเกมขับเคี่ยวอย่างหนักเพื่อชิงความได้เปรียบในเกมค้าปลีกที่กำลังร้อนแรงครับ

ตารางเปรียบเทียบมวยถูกคู่ บิ๊กซี Vs เทสโก้ โลตัส

rt3

อ่านบทความเกี่ยวกับแฟรนไชส์ goo.gl/BbyxUk
อ่านบทความธุรกิจ SMEs goo.gl/PJQQvG
สนใจซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ต่างๆ goo.gl/323Te9


คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช